ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข เผยรายละเอียดความคืบหน้า การเตรียมความพร้อมและบทบาทการ ‘ถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. พร้อมจัดระบบรองรับคนไม่ถ่ายโอน

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนาการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข “นโยบายภาครัฐ กับความพร้อมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมเสวนาด้วย ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดการเตรียมความพร้อม การถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

นพ.สุระ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากได้รับหน้าที่ให้ดูแลการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.นั้น ซึ่งตนได้รับหน้าที่เป้นประธาน จึงได้ตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ 1. ด้านบริการและการบริหารจัดการ 2. ด้านการบริหารงานบุคคล จากนั้นได้ประชุมมอบหมายงานกัน และหารือกับสำนักงานงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากนั้นวันที่ 3 ธ.ค. 64 ได้ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดไปยัง สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และวันที่ 8 ธ.ค. 64 หารือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 

ทั้งนี้ ในส่วนของบทบาท สธ. สิ่งที่ต้องเตรียมมี 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมในการรับภารกิจด้านสาธารณสุข  2. การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณของ อบจ.  3. การเตรียมความพร้อมด้านการบริหารงานบุคคล  และ 4. การประชาสัมพันธ์และซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน

ในส่วนของกลไกของการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ของคณะกรรมการการถ่ายโอน โดยกรรมการกระจายอำนาจระดับชาติ จะมีอนุกรรมการ 2 คณะ เช่นกัน  คือ 1. ด้านคุณภาพและงบประมาน 2. ด้านการบริหารงานบุคคล

นอกจากนี้จะมีการจัดการเรื่องทรัพย์สินที่จะถ่ายโอน เช่น สถานที่ ครุภัณฑ์ ฯลฯ และมีอนุกรรมการในการเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการ รวมถึงอนุกรรมการด้านการประเมินและเตรียมความพร้อมการถ่ายโอนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์

นพ.สุระ กล่าวว่า ส่วนของอนุกรรมการฯ ถ่ายโอนไป อปท. นั้นมีมติเห็นชอบจำนวน 49 แห่ง และ รพ.สต.  9,750 แห่ง มีบุคลากรทั้งสิ้นประมาณ 4 หมื่นกว่าคน รวมที่เป็นข้าราชการ ส่วนลูกจ้างอื่นๆ ประมาณเท่าตัว ประสงค์ที่จะรับการถ่ายโอนมี อบจ. ที่รับการถ่ายโอนมีจำนวน 49 แห่ง ส่วน รพ.สต. มีจำนวน 3,366 แห่ง และบุคลากรจำนวน 21,993 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1.2 หมื่นคน และอัตราจ้างประมาณ 1 หมื่นคน

สำหรับในระดับจังหวัด ข้อมูลที่ทางกระทรวง สธ. มีขณะนี้ พบว่า มีผู้ที่ประสงค์โอนเป็นข้าราชการรวมทั้งหมด 11,472 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ 9,732 คน (ลุกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานสธ. ) รวมทั้งสิ้น 21,474 คน และส่วนที่มีชื่อทั้งประสงค์จะถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอนอีก 587 คน รวมที่มีอยู่ในระบบทั้งสิ้นจำนวน 22,061 คน 

ขณะที่ผู้ไม่ประสงค์จะถ่ายโอนมีจำนวนทั้งสิ้น 5,903 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,296 คน ลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 392 คน ซึ่งให้เหตุผลว่าขอทำงานที่เดิม ฯลฯ  โดยสำหรับผู้ไม่ประสงค์ถ่ายโอน ทางกระทรวง สธ. จะใช้วิธีการคือหากเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ผู้ว่าฯ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรกระจายกันภายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำหรับกรณีผู้ที่เป็นข้าราชการซึ่งประสงค์จะถ่ายโอน หากตามกรอบเวลา เดือนมกราคมตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว จากนั้น อ.ก.พ. สธ. และอ.ก.พ. สป. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนจัดสรรตำแหน่งแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหลือเพียงบางตำแหน่งที่ไม่สามารถเกลี่ยให้ได้ต้องขอความเห็นชอบจาก สำนักงาน กพ. เนื่องจากมีกฎหมายกำกับเรื่องบุคลากรอยู่ และหลักเกณฑ์ในการจัดสรรข้าราชการบางประเภทและบางตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปที่หน่วยบริการได้ ส่วนเดือน มีนาคม - พฤษภาคม 65 จะมีการจัดทำแนวทางในการเกลี่ยให้กับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ปฏิบัติงาน จากนั้นจึงจะทำการย้ายและสัญญาจ้างใหม่ในเดือน มิถุนายน - สิงหาคม

กรณีผู้ประสงค์ถ่ายโอน หากเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำปลัดกระทรวง สธ. จะเป็นคนลงนามในการให้โอน ส่วนพนักงานราชการ โดยราชการในส่วนภูมิภาคได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนของลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวง ต้องลาออก โดยจะไม่มีสถานะกับทางกระทรวง ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ที่ อบจ.

ทั้งนี้ ในการประชุม“วันที่ 29 นั้น จะมีการประชุม อ.ก.พ. สธ. เราจะต้องนำเสนอความประสงค์ทั้งหมดในจำนวน 3,366 แห่ง นั้น ซึ่งมีบางส่วนที่สำนักงบประมาณเห็นชอบมาแล้ว 512 แห่ง ที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องปฎิบัติตาม เพราะฉะนั้นส่วนนี้จะถูกแยกออกมา  และอีกส่วนที่เหลือกำลังพิจารณาและดำเนินการอยู่

“เพราะฉะนั้น ในห้วงสัปดาห์นี้หลังจากวันที่ 29 ที่ผ่านมาที่ได้คุยกัน ทางเราเองและ อบจ. สสจ. ก็มีการเช็คตัวเลขให้มีความชัดเจน ว่าตกหล่นหรือไม่ เพราะการนำเสนอ อ.ก.พ. ต้องนำเสนอจำนวนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วย ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนมาก ว่า ชื่ออะไร ตำแหน่งอะไร เงินเดือนเท่าไหร่ และติดเงื่อนไขอะไร  ซึ่งในจำนวน 2 หมื่นกว่าคน เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องดูคนต่อคน ที่ผ่านมาการถ่ายโอน 84 แห่ง เราต้องมีการแก้ไขข้อมูลอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 65 ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ายอดไม่ตรงก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความกังวลมาก เพราะเราต้องทำทุกอย่างให้มันตรง ” นพ.สุระ   กล่าว

 

 

รับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/cG5iC6_mKi/

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org