ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมอนามัยชี้ไทยอัตราการเกิดต่ำ เหลือปีละไม่ถึง 6 แสนคน  ย้ำ! ส่งเสริมให้มีลูก ต้องมีการอุดหนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครใจจริงๆ   ขณะที่ข้อมูลปัจจุบันผู้สูงอายุ 10% อยู่คนเดียว โดยจำนวนหนึ่งเป็นโสดและอีกจำนวนหนึ่งเป็นหม้าย ส่วนอีก 20% อยู่กันสองคนตายาย มี 70% อยู่กับลูกหลาน  
 

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีสังคมไทยมีข้อถกเถียงถึงการมีลูก ซึ่งมีบางส่วนมองว่าไม่อยากมีลูก และไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้คนมีลูก เพราะประชากรโลกมีมากเกินไป และสภาพสังคมเศรษฐกิจ ไม่เอื้อให้คนมีลูก ว่า ถ้ามองในภาพรวมประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้ามอง เฉพาะสถานการณ์ในประเทศไทยจะพบว่าขณะนี้ อัตราการเกิดลดลงต่ำมาก เหลือปีละไม่ถึง 600,000 คน ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตในแต่ละปี ส่งผลกระทบกับการเป็นประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นปีแรก เรียกว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ 

"ดังนั้น การส่งเสริมให้คนมีลูกจึงยังเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่การจะมีลูกได้ก็จะต้องมีการอุดหนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครใจ อยากจะมีลูกด้วย" นพ.เอกชัย กล่าว 

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็ดำเนินการอยู่ อย่างการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก 1 คนค่อนข้างมาก ตลอดจนเรื่องของการผลักดันให้เกิดศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ เป็นที่ไว้วางใจสำหรับผู้ปกครองที่จะนำบุตรหลานมาฝากเพื่อที่ตัวเองจะได้กลับเข้าสู่ ระบบการทำงาน ซึ่งปัจจุบัน มีสถานรับเลี้ยงเด็กอยู่ประมาณ 50,000 แห่ง แต่ในเรื่องของคุณภาพนั้นยังต้องมีการประเมิน ส่วนที่มีคุณภาพก็ต้องเสียเงิน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้คนวัยแรงงานมีลูกด้วยและยังสามารถทำงานได้จึงควรส่งเสริม ให้สถานเลี้ยงเด็กคุณภาพเป็นรัฐสวัสดิการฟรี 

นพ.เอกชัย กล่าวว่า  การส่งเสริมให้คนมีลูกเพื่อเพิ่มประชากรของประเทศเราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้จะต้องมาดูแลหรืออุ้มผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะในส่วนของผู้สูงอายุเองเราก็มีความพยายามในการส่งเสริมให้สามารถดูแลตัวเองได้ พยายามไม่ให้เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง แล้วจะส่งผลให้เกิดความเครียดซึมเศร้า ได้ง่ายโดย ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลว่าผู้สูงอายุ 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่คนเดียว โดยจำนวนหนึ่งเป็นโสดและอีกจำนวนหนึ่งเป็นหม้าย ส่วนอีก 20% อยู่กันสองคนตา ยาย ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยู่กับลูกหลาน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอัตราการ อยู่คนเดียวหรืออยู่ 2 คนของผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ โดยดูจากประสบการณ์ของประเทศที่ มีการบริหารจัดการส่งเสริมผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ประสบความสำเร็จเช่นประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง