ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ชี้สถานการณ์โควิดเริ่มทรงตัว รักษาที่บ้านมากขึ้น หลายสถานพยาบาลทยอยยุบวอร์ดรักษาโควิด-19 ขณะที่ รพ.รามาฯ รับผู้ป่วยโควิดเริ่มลดลง  ได้ผ่าตัดผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติจากเคยเลื่อนเพราะสถานการณ์โรคระบาด ส่วนรพ.เวชศาสตร์เขตร้อนเช่นกัน แต่ย้ำเตือนระวังผู้ป่วยไข้เลือดออก เหตุอาการคล้ายโควิด-19   หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิต

 

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ที่รพ.สงฆ์  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์   กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว ผู้ป่วยรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาล ทยอยยุบวอร์ดรักษาโควิด-19 ลงและกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆและทำการรักษาผ่าตัดมากยิ่งขึ้น  เช่น รพ.เลิดสิน ได้รับรายงานว่าผู้ป่วยโควิดน้อยลง รพ.สนามที่เตรียมเตียงรักษาผู้ป่วยเหลือง-แดงไว้ 200 เตียง เหลือรักษาผู้ป่วย เพียง 30-40 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา รพ.เลิดสินได้งดรับผู้ป่วยโควิดที่เข้ารพ.สนามลง และใช้รูปแบบการส่งต่อการรักษาผู้ป่วยตามสิทธิ์  คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการปรับการรักษาเข้าสู่ระบบปกติ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดโควิดที่รุนแรงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ปะทุขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับสถานพยาบาลอื่นๆ คงมีการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลลง อย่างไรก็ตามเน้นย้ำยังมีการติดตามสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตอนนี้ในบางประเทศเริ่มพบเชื้อโควิดสายพันธุย่อยระบาด

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมหารือกับฝ่ายการรักษาในการจัดทำเกณฑ์ ควบคุมป้องกันและการดูแลรักษาหลังปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาโควิด-19 ยังถูกระบุให้เป็นโรคติดต่ออันตราย แต่เมื่อโควิด-19 ไม่เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้วก็ต้องมีการปรับเกณฑ์การดูแลรักษาใหม่ เป็นหลักการที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่หลายฝ่ายกังวลการเปิดภาคเรียนจะพบเด็กติดเชื้อมากขึ้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ คือ การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเกิน 5 ปีสามารถฉีดได้  จึงขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามนัดเนื่องจากมีข้อมูลว่าเด็กฉีดเข็ม 2 น้อยมาก ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค แม้เด็กสุขภาพดี  แต่ก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้ สิ่งที่จะช่วยได้คือคนรอบตัวเด็ก ผู้ปกครองควรเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่วนที่กังวลว่าจะมีการติดเชื้อจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมภายในโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำแผนมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดอยู่แล้วในส่วนการรักษาในเด็ก ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีหรือรพ.เด็กได้มีการประชุมหารือกับเครือข่ายทุกโรงพยาบาลในการวางแนวทางการรักษาเป็นระยะอยู่แล้ว

ขณะที่ นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายสนับสนุนโรงพยาบาล รพ.รามาธิบดี   กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่รพ.รามาฯ ว่าขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว และลดลง ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เลื่อนผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดลงกว่าครึ่ง แต่ตอนนี้ได้กลับมาทำการรักษาต่อและนัดผ่าตัดปกติ คาดว่าระยะเวลาอีกไม่นานการรักษาผู้ป่วยอื่นๆก็จะกลับสู่ระบบปกติ 

ส่วน รศ.นพ.วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ผู้อำนวยการรพ.เวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า ที่รพ.เดิมมีวอร์ดผู้ป่วยโควิด 2 วอร์ด ขณะนี้เริ่มปรับสู่ระบบปกติหลังจากปู้ป่วยโควิดน้อยลง แต่ที่ต้องย้ำเตือนให้เฝ้าระวังมากขึ้น คือ ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยอาการจะคล้ายกับโควิด- 19 หากทำการรักษาไม่ทันก็อาจจะเสียชีวิตได้ อย่าลืมว่าไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org