ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการกองระบาดฯ ชี้สาเหตุแยกรายงานเสียชีวิตจากโควิดเพียงอย่างเดียว ทำให้ทราบข้อมูลชัดเจน หากมารักษา รพ.ด้วยโรคเรื้อรัง แต่ติดโควิดจะมีผลต่อการรักษาถูกโรค เพราะถ้ามุ่งโควิด หลายรายโรคร่วมกำเริบ ขณะที่โควิดมีผลต่อการกระตุ้นโรคประจำตัวหรือไม่ ต้องศึกษาร่วมผู้เชี่ยวชาญ

 

จากกรณี นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กกรณีกระทรวงสาธารณสุขปรับรายงานการเสียชีวิตโควิด  โดยเสนอให้สังคมไทยเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการเสียชีวิตทั้งจากโควิด และจากผู้มีโรคร่วมและติดเชื้อโควิด มิฉะนั้นจะยิ่งทำให้ภาพที่เห็นไม่ครบถ้วน และส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการระวังป้องกันตัวของประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า  ที่มีความจำเป็นในการรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างเดียว เนื่องจากกรณีการแยกกลุ่มเสียชีวิตจากโรคร่วม แต่ติดเชื้อโควิด และกรณีคนติดเชื้อโควิด มีปอดอักเสบและเสียชีวิต การรักษาจะแตกต่างกันพอสมควร การแบ่งแยกกลุ่ม จะทำให้มีผลต่อการวางแผนการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการวางแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตทั้งสองกลุ่มได้

“กรณีเป็นโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หรือหลอดเลือดสมอง และเข้ารับการรักษา ซึ่งมีการตรวจ ATK แต่พบผลบวก ซึ่งอาการทั้งหมดเป็นของโรคร่วม การดูแลรักษาจะเน้นโรคร่วมเป็นหลัก เพราะอาการติดเชื้ออาจไม่มาก หากไปโฟกัสรักษาโควิดก่อน โรคร่วมอาจกลายเป็นสาเหตุให้อาการหนักได้เร็ว  ขณะที่กลุ่มที่สอง มีโรคร่วมเหมือนกัน แต่เริ่มต้นจากโควิด และมีปอดอักเสบจากโควิด เริ่มมีอาการโรคร่วมมากขึ้น ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม มีมาตรการมารองรับเพื่อให้โรคร่วมอาการไม่รุนแรงมากขึ้น และการติดเชื้อโควิดก็รักษาได้ อันนี้จึงเป็นที่มาของการปรับรายงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวย้ำว่า   การแยกการรายงานสองอย่างออกมาทำให้สามารถทราบข้อมูลชัดเจนว่า  ทำให้ผู้ป่วยโรคร่วมที่เป็นโรคเรื้อรังได้รับการรักษาทันท่วงที เนื่องจากหากติดโควิดและมุ่งการรักษาโควิด ทำให้อาจพลาดโอกาสการวินิจฉัยโรคร่วมอื่นๆ และทำให้พลาดการรักษาอย่างทันท่วงทีได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบ เนื่องจากในอนาคตโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น

“เราจะได้ทราบข้อมูลชัดเจน อย่างกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปหลายคนไม่ได้ติดโควิด แต่เป็นโรคร่วมมีโรคเรื้อรัง หรือภาวะชรา ซึ่งอาจไม่ได้เสียชีวิตจากโควิด แต่หากเราแยกออกมา จะทำให้อนาคตเราทราบข้อมูลตรงนี้ และรักษาได้ตรงจุด ซึ่งอายุ 70 ปีก็จะมีโรคเรื้อรัง และมีภาวะชราอยู่แล้ว”  นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

เมื่อถามว่าโควิดไปกระตุ้นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  เรื่องนี้บอกไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องศึกษาร่วมกันกับหลายๆผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากโควิดไม่เคยมีการชันสูตรศพ  

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ชี้โควิดหลายพื้นที่ดี  แต่อีสานยังขาขึ้น เหตุวัคซีนยังฉีดน้อย 2 เข็ม ซึ่งไม่เพียงพอ!

    

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org