ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์วิจัยฯความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รามาฯ แนะรัฐ เตรียมมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย หลังกฎหมายคุมเข้มรถต้องมีคาร์ซีทให้เด็กเล็กไม่เกิน 6 ปี มีผลบังคับอีก 120 วัน ขอพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจความสำคัญที่นั่งคาร์ซีท ลดอันตรายเจ็บหนักเสี่ยงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 10 พ.ค. 2565  ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แถลงข่าว ถึงเวลาคุ้มครองชีวิตเด็กๆ ... ถึงเวลาที่นั่งนิรภัย !  ประเด็น เด็กไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท

โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ แถลงว่า   ทางศูนย์วิจัยฯ ติดตามเรื่องนี้กว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2545 ล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ประกาศปรับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับล่าสุด กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้มีคาร์ซีทตลอดเวลาที่โดยสารรถ  หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท มีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน ระหว่างนี้ประชาชนต้องเตรียมตัวหาอุปกรณ์ และปรับทัศนคติต่อความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัย เพราะการให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดตรงที่นั่งข้างคนขับทำให้เด็กเสี่ยงอันตรายมากกว่าเบาะหลัง 2 เท่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการอุ้มเด็กไว้บนตักไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัย ทั้งนี้ จากข้อมูลราชวิทยาลัยกุมารแพทย์พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เด็กที่โดยสารเสียชีวิตปีละ 140 ราย 

ขณะเดียวกัน รัฐ องค์กร ประชาสังคม ชุมชน หน่วยงานบริการสุขภาพเด็กต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย คือ 1.ให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึง 2.สนับสนุนการซื้อ เพราะข้อมูลชี้ชัดว่าการลดอุบัติเหตุของเด็ก ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องดูแลคนพิการใน 10-20 ปีข้างหน้าได้ ฉะนั้นเป็นการลงทุนมีความคุ้มทุนเพื่อลดการสูญเสีย และ 3.มาตรการลดต้นทุนผู้ขาย ลดภาษีการนำเข้า รวมถึงองค์กร ชุมชนต้องเห็นความสำคัญ หาผลิตภัณฑ์ราคาถูกลงเพื่อทำคลังยืมคืน เนื่องจากที่นิรภัยเป็นสินค้าต้องใช้ตามอายุ หากไม่เกิดอุบัติรุนแรง ก็สามารถนำมาเวียนใช้ได้

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้คาร์ซีทแบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มอายุ แรกเกิด-2 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยนั่งเบาะหลัง หันหน้าเด็กไปหลังรถ กลุ่มอายุ 3-7 ปี ใช้ที่นั่งที่มีเข็มขัดนิรภัยภายในยึด 5 จุดติดกับเบาะหลัง หันหน้าไปหน้ารถ และกลุ่มอายุ 6-7 ปีจะใช้เก้าอี้เสริมคาดยึดเข็มขัดจากตัวรถ

 “ครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนทัศคติ ร่วมกันเรียกร้องหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนให้ท่านเข้าถึงที่นั่งนิรภัยได้ใน 120 วัน แทนที่การทำให้เลื่อนออกไป ลองคิดดูว่าผู้ขับและผู้นั่งข้างได้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ลูกท่านไม่ได้คาดหรือคาดแล้วก็ไม่พอดี ท่านจะยอมคาดเข็มขัดในขณะที่ลูกไม่มีระบบยึดเหนี่ยวอย่างไร ดังนั้น ทัศคติต่างๆเพราะสิ่งที่ครอบครัว ต้องปรับเพื่อร่วมมือ เรียกร้องให้รัฐ องค์ชุมชน หน่วยบริการสุขภาพเด็ก เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว