ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบาย "ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" ของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อไปพัฒนาระบบบริการและระบบสนับสนุนของสปสช.ให้ดียิ่งขึ้น  

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ร่วมกับ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมคณะ ที่ จ.ร้อยเอ็ด เยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบาย "ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" ของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ตลอดจนเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่พร้อมทีมสหวิชาชีพ   

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับมะเร็งให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไว้หลายรายการ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งบางชนิด การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนการรักษาทั้งการผ่าตัด การฉายแสง หรือเคมีบำบัด หรือแม้แต่การดูแลแบบประคับประคองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 

 

อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากมีข้อกำหนดให้ไปรับการรักษาที่สถานบริการใกล้บ้าน แต่บางครั้งสถานบริการใกล้บ้านไม่สามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนอย่างโรคมะเร็งได้ ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อีกทั้งต้องรอคิวนานในการบางขั้นตอนการรักษา เช่น การทำ PET CT การฉายรังสี ฯลฯ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนโรคลุกลามหรือถึงขั้นเสียชีวิต   

ด้วยเหตุนี้ นโยบาย Cancer anywhere จึงได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ได้ร่วมกันพัฒนาระบบบริการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือที่ว่าเป็นมะเร็งรักษาได้ทุกที่ กล่าวคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสามารถไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เครื่อง PET CT เครื่องฉายรังสีรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่รองรับนโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้กว่า 245 แห่งทั่วประเทศ และโรงพยาบาลร้อยเอ็ดก็เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ว่านี้  

และเวลา 13.15 น. คณะลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยเพศชาย อายุ 68 ปี ณ ชั้น 6 อาคารมะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ และบ้านพักผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จากนั้นได้เดินทางไปที่บ้านของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 69 ปี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ณ ตำบลหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเยี่ยมมอบสิ่งของและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็ง

ด้านนายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า โรงพยาบาลร้อยเอ็ดร่วมมือกับสถาบันจุฬาภรณ์มา 5-6 ปีแลัวและรับผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ท่อน้ำดี มะเร็งปอด  มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก  และอวัยวะอื่นๆเพราะมีศัลยแพทย์ที่ชำนาญสามารถผ่าตัดได้  อีกทั้งมีเครื่องใช้แสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งถึง 2 เครื่อง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ารพ.ร้อยเอ็ดมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น มีระยะเวลารอคอยฉายแสงมากพอสมควร   ดังนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระคนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาและสามารถฉายแสงให้คนไข้โดยไม่ต้องรอนานหรือภายใน6สัปดาห์ ได้นับการรักษา/ดูแลมันท่วงที ได้เข้าถึงระบบร้อยละ 80

“นอกจากนี้ รพ.ร้อยเอ็ดยังมีบ้านพักชื่อ”บ้านปันน้ำใจไทยเพิ่มพูล”ให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มีบ้านอยู่ไกลเพื่อลดค่าใช้จ่ายเดินทางรักษาหรือฉายแสง อีกด้วย โดยได้รับบริจาคจากภาคเอกชน มีผู้ป่วยที่มารักษา ฉายแสง บางครั้งใช้เวลา 5-18 วัน บางคนต้องมานอนอยู่ที่นี่เพื่อนอกจากลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วยังลดความเหนื่อยล้า เพลียจากการฉายแสง ร่างกายของผู้ป่วยที่ฉายแสงต้องแข็งแรงพอสมควรถ้าเดินทางไปมาจะลำบาก ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายกับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาได้ถึงครั้งละ 30,000 บาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งมาก” นพ.ชาญชัยกล่าว

 

 

ในช่วงบ่ายคณะลงพื้นที่เยี่ยม บ้านลุงสุวิทย์ กุระคำ อายุ 70 ปี ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 2 อยู่บ้านเลขที่ 34  ต.หนองแวง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด  เล่าว่า เพิ่งตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากตนมีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง แล้วไปตรวจสุขภาพประจำปี และพบว่ามีผิดปกติที่ต่อมลูกหมาก พอตรวจและหมอยืนยันก็ตกใจ ซึ่ง รพ.ร้อยเอ็ดดำเนินการทำให้เข้าระบบ ได้ทันที  ทุกวันนี้ ฉายแสงไปแล้ว12 แสงซึ่งต้องได้รับการฉายแสงทั้งหมด 28 แสง 

มีกำลังใจมากตอนนี้ เพราะจะมีหมออนามัย อสม. ผลัดกันมาเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจ รวมถึงคนในชุมชนทราบข่าวจากสถานีอนามัยก็เยี่ยมตลอด ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ขอบคุณสปสช.มากที่ดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาทั้งหมด ถ้าต้องให้จ่ายเองก็คงไม่มีปัญญา เพราะรู้ว่าการรักษาแพงมาก” ลุงสุวิทย์ กล่าว 

 

 

ด้านนางวิบูลย์ลักษณ์ ไชยศรี  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านเกล็ดลิ่น  ม.4 ต.หนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า ตนได้รับหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยตามที่ได้รับผิดชอบ คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง การเลือกทานอาหารที่ถูกหลักอนามัย  นอกจากนี้ ยังช่วยประสานงานกับทาง รพ. ถ้าหากผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ และตอนนี้ ลุงสุวิทย์เอง เป็นคนสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก  ยิ่งตอนนี้ตลอดระยะเวลาที่ได้ตรวจพบมะเร็งและได้เข้าระบบในการรักษาครั้งนี้ ลุงสุวิทย์มีกำลังใจเยอะขึ้นมาก  เพราะจะมีหมออนามัย อสม. ผลัดกันมาเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจกันตลอด โดยเฉพาะลูกสาวเองก็เป็นอสม. เช่นกัน  รวมถึงคนในชุมชนทราบข่าวจากสถานีอนามัยก็เข้ามาเยี่ยมและถามข่าวตลอด