ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ และ รมว.สธ.เผยกลไกคุมการใช้กัญชา รองรับร่างพรบ.กัญชา กัญชงออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.นี้ พร้อมตอบข้อเสนอนักวิชาการให้ตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

จากกรณีที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งจะมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด ขณะเดียวกันมีการเสนอร่างพรบ.กัญชา กัญชงเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเพื่อใช้เป็นกฎหมายควบคุมการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565เป็นต้นไป ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมาย หลังจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ เพราะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป 

ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างพรบ.กัญชา กัญชงที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย(ภท.)จะออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทันแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เพื่อไปบอกว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเสรีต้องใช้อย่างไรถึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นคนที่ใช้ผิด คือ คนที่ตั้งใจจะใช้ผิด ก็จะต้องมาดูเรื่องกฎหมายสาธารณสุขมาดูแลต่อไป ย้ำว่าทำนโยบายนี้มาเพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ของกัญชา ไม่ใช่ใช้ส่วนที่เป็นโทษ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย 

ถามต่อว่าแล้วจะมีกลไกอะไรมาควบคุมกำกับกรณีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องให้ความเข้าใจ ย้ำว่านโยบายกัญชาคือกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น   ถ้าคนบริโภคในอัตราที่เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าขาดความเข้าใจแล้วไปใช้ทางที่ผิดแล้วหวังว่าจะออกฤทธิ์ทำให้สุขภาพดีขึ้นไม่มีทาง มีแต่โทษ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนเข้าใจเพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ 

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแม้ร่างพรบ.กัญชา กัญชง จะออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.2565 ประชาชนก็สามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมายใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ไม่ต่างอะไรจากต้นพริกขี้หนูถ้าไม่สนใจแล้วไปเอามากินครั้งเดียวหลายๆเม็ด  ก็อันตรายได้  แต่ถ้าใช้เพื่อประโยชน์ เพิ่มเติมรสชาติของอาหาร หรืออะไรก็แล้วก็จะเป็นประโยชน์ กัญชาก็ฉันใดฉันนั้น  ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ กัญชาเสรีทางการแพทย์เสมอ เพราะฉะนั้น อธิบายด้วยตัวมันเอง ส่วนการใช้ที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ และอาจจะผิดกฎหมายด้านสาธารณสุขด้วย 

ถามถึงข้อเสนอนักวิชาการกรณีควรมีการเพิ่มกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาในร่างพรบ.กัญชา กัญชงที่ภท.เสนอด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะพิจารณา ซึ่งตอนนี้ร่างพรบ.ผ่านครม. ผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี อยู่ในการบรรจุในวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งสภาเปิดวันที่ 22 พ.ค.2565 ก็ต้องมีการบรรจุเข้าไปตามขั้นตอน ตอนนี้ผ่านมือสธ. ผ่านมือรัฐบาลไปแล้ว อยู่ที่การพิจารณาของสภา

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า สำหรับกัญชา กัญชง เรามองว่าเป็นพืชสมุนไพร ที่ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ การแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ อย.ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือการปลูก กลางน้ำ คือการสกัดออกมาเป็นสาร THC และ CBD และปลายน้ำ คือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. มีการอนุมัติผลิตภัณฑ์ไปแล้วเกือบ 1 พันรายการ ทั้งยาสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม และจะมีการอนุมัติเพิ่มเติมขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักการใช้กัญชา ตามพรบ.กัญชา กัญชง เพื่อการส่งเสริมใช้ในการแพทย์ แต่ยังมีข้อกำหนดไม่ให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์ หรือเด็ก  รวมถึงการควบคุมโฆษณา ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายตามผลิตภัณฑ์นั้นๆ

“ส่วนเรื่อง พรบ.กัญชา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ เมื่อถามว่าหลัง 9 มิ.ย.65 แล้วจะเป็นอย่างไร จุดยืนของพืชสมุนไพร คือเราจะมีการนำไปใช้ที่เหมาะสม โดยเราจะมีแอพพลิเคชั่น เพื่อการจดแจ้งปลูกในประชาชนทั่วไป และการขออนุญาตในเชิงพาณิชย์ต่างๆ ผ่านแอพพ์ ปลูกกัญ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเสร็จแล้ว แต่จะมีการเริ่มให้บริการในวันที่ 9 มิ.ย.” นพ.ไพศาลกล่าว

เมื่อถามว่าหาก พรบ.กัญชา พิจารณาออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย. จะส่งผลต่อการนำไปใช้ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะประชาชนรับทราบ และมี mindset ในเรื่องการเป็นยาเสพติดกับสิ่งที่เราจะไปใช้ประโยชน์ได้ดี นึกถึงเรื่องใช้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสินค้าที่ทำจากกัญชา กัญชงอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า โดยประชาชนมีความตื่นตัว

“แต่เรียนอีกประเด็นคือ สารสกัดที่มีปริมาณ THC  มากกว่า 0.2% ยังเป็นยาเสพติดอยู่ ส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ เรื่องนี้มีการระบุในประกาศชื่อยาเสพติดให้โทษอย่างชัดเจน ว่าต้องเป็นการปลูกในประเทศ แม้แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราก็มีข้อมูลชัดเจนว่าต้องมาจากในประเทศ” นพ.ไพศาลกล่าว

เมื่อถามต่อว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. มีปริมาณ THC สูงกว่า 0.2% หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ก่อนได้รับอนุญาตจะมีการตรวจวิเคราะห์ โดยมีข้อกำหนดว่าต้องมีปริมาณเท่าไหร่ต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่หากถามว่า ถ้าเกิน 0.2% จะนำไปใช้จะต้องขออนุญาต เช่น ยาสูตรเข้ากัญชา ต่างๆ อย่างสูตรเมตตาโอสถ ของกรมแพทย์แผนไทยฯ ก็จะมีปริมาณ THC สูงมาก แต่เป็นการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ตั้งกองทุน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา อย่างเช่นกองทุนเหล้า บุหรี่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ก็สามารถเสนอมาได้ ซึ่งทางอย.ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ แต่ก็รับฟังทุกข้อเสนอ ทั้งนี้ พรบ.กัญชา ไม่ใช่ของเดิมที่นำมาทำใหม่ อย่างไรก็ตาม หากจะต้องตั้งเป็นกองทุน ก็ต้องไปดูว่าอยู่ในกฎหมายใด หรืออาจจะนำไปเพิ่มเติมใน พรบ. ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาฯ

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า จะมีการควบคุมโฆษณาอย่างไร เพราะตอนนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาผ่านสื่อต่างๆอย่างมาก นพ.ไพศาล กล่าวว่า มีการควบคุมการโฆษณาตามพรบ.ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างยา อาหารและสมุนไพรจะต้องขออนุญาตจากอย.ก่อน แต่เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณา แต่จะต้องไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org