ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์ สสจ. กาญจนบุรี เผยกรณีสาวเกิดแผลพุพองรักษาตัว รพ. อาการดีขึ้นแล้ว ยังไม่ใช่อาการเกิดจากโรคเดิมกำเริบหรือผลข้างเคียงวัคซีน  ส่วนประเด็นรับจ้างฉีดวัคซีนหรือไม่ น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน พบเป็นการฉีดในโครงการวิจัย ขณะที่ อย.เผยวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวยังไม่ได้รับการขออนุญาตวิจัยในคน   

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) กาญจนบุรี  กล่าวถึงกรณีมีการรายงานข่าวเรื่องหญิงสาวอายุ 35 ปี รับจ้างฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 แล้วเกิดอาการแพ้ เป็นตุ่มพอง แผลพุพอง ว่า ขณะนี้ได้รับตัวหญิงสาวรายดังกล่าวเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีนี้น่าจะมีการสื่อสารที่คาดเคลื่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ซักถามพบว่าผู้ป่วยได้ทำการเข้าโครงการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วมีอาการผื่น ถุงน้ำตามตัว และเดิมผู้ปวยเคยเป็นโรคผิวหนังเป็นโรคประจำตัวที่ทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพหลฯ อยู่แล้ว พอเข้าร่วมโครงการวิจัยก็ได้มีการให้ค่าชดเชยการเดินทาง ไม่ใช่ค่าจ้างในการฉีดวัคซีน มีการทำสัญญากับผู้ทำโครงการเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งทางโครงการมีการทำประกันกรณีมีผลข้างเคียงจาการฉีดวัคซีน ดังนั้น ผู้ทำโครงการต้องเข้ามาดูตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ ในข่าวยังมีความคาดเคลื่อนเรื่องจำนวนการฉีดด้วย โดยจากที่ตนได้รับข้อมูล คือ เป็นการฉีดวัคซีน 1 เข็ม ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เป็นการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร 

นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) กาญจนบุรี

ขอบคุณภาพจากสำนักงานสาธารณสุขกาญจนบุรี https://www.kanpho.go.th/new/index.php/en/

 

นพ.ชาติชาย กล่าวว่า สำหรับโรคผิวหนังเรื้อรัง ภูมิแพ้เรื้อรัง ตอนนี้อย่าเพิ่งไปสรุปว่าเกิดจากการแพ้วัคซีน อาจจะเป็นเพราะโรคเดิมกำเริบได้ เมื่อได้รับสารกระตุ้นโรคก็กำเริบ หรืออาจจะเกิดจากการแพ้วัคซีนจริงๆ ก็ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ส่วนตอนนี้เราก็ดูแลคนไข้ให้มีความปลอดภัยก่อน ซึ่งขณะนี้ อาการโดยทั่วไปอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผื่นลดลง ทั้งนี้  หากเป็นเพราะโรคผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรืออื่นๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ต้องกินยาต่อเนื่อง รักษาไม่หายขาด แต่หากเป็นการแพ้วัคซีนจริง ๆ หยุดฉีดวัคซีน ให้ยาแก้แพ้ ก็สามารถรักษาหายได้ แต่ข่าวที่ออกไปลักษณะการจ้างฉีดวัคซีนนั้นไม่มีเด็ดขาด

 

เมื่อถามถึงรายละเอียดที่มีการทำวิจัยฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นพ.ชาติชาย กล่าวว่า ตรงนี้คณะทำวิจัยเป็นคนทำ

 

เมื่อถามต่อว่าเป็นทางบริษัทเอกชนดำเนินการหรือ เป็นโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหรือไม่ นพ.ชาติชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการตรวจสอบข้อมูลต่อไป

 

เมื่อถามย้ำว่า วัคซีนที่ระบุว่ามีการทำวิจัยนี้เป็นตัวเดียวกับที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ หรือวัคซีนรุ่นใหม่ นพ.สสจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เรื่องของการศึกษาวิจัยวัคซีนหรือยาในประเทศไทย หรือในคนไทย หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว ก็สามารถนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัยได้โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีวัคซีนจอนห์สัน แอนด์ จอห์นสัน  จากการตรวจสอบทราบว่า ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน ได้ทำโครงการทดสอบวัคซีนจอนห์สันฯ ไปเมื่อเดือน ม.ค.2565 ทั้งนี้ วัคซีนจอนห์สันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไปเมื่อปี 2564 แบบอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุวัคซีนแล้ว จึงสามารถทดสอบได้ตามโปโตคอล 

เมื่อถามว่าในกรณีการศึกษาวิจัยวัคซีน ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการศึกษาวิจัยจริงๆ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ประชาชนสามารถดูได้จากข้อมูลและหนังสือสัญญาก่อนยินยอมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนั้นๆ ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของผู้ศึกษาวิจัยและหน่วยงานวิจัย รวมถึงการประกันสุขภาพกรณีที่มีผลกระทบหลังจากการศึกษาวิจัยด้วย 
 

 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง