ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ได้รับทราบรายงานแนวฌโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอ โดยแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 34.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ตามการกลับมาขยายตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้ มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.144 ล้านล้านบาท ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ร้อยละ 63.8 เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของภาครัฐ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 497,693 คน เทียบกับ 20,172 คนในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการกลับมาดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศทั่วโลก สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 36.15 สูงกว่าร้อยละ 26.25 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 16.15 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 2.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมการผลิตและการส่งออก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ในด้านการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2564 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคครัวเรือนเข้าสู่ภาวะปกติหลังความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคลดลง

อย่างไรก็ตาม รายงานแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ยังระบุด้วยว่า ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยการติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และการดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ขณะที่การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง จะต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง

นอกจากนี้ ครม.ได้รับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการญัตติมาตรการและผลกระทบจากนโยบายการเปิดประเทศด้านต่างๆ เพื่อชี้แจงญัตติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

สาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการรองรับการเปิดประเทศในสรุปผลการรายงานดังกล่าวระบุว่า ขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับปรุงระบบ Thailand Pass อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำให้ผู้เดินทางประหยัดเวลาในการตรวจเอกสารขณะอยู่สนามบิน และลดจำนวนเอกสารที่ต้องนำติดตัวได้ ในส่วนของผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Thailand Plus เนื่องจากแอปพลิเคชันนี้ใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง GPS และ Bluetooth ที่สามารถติดตามตำแหน่งผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้ 

ในส่วนการเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านทางบกนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ปิดด่านดังกล่าวแต่อย่างใด ชาวต่างชาติสามารถขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry : COE) ได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ รวมทั้งได้มีการอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 12-17 ปีที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม สามารถเดินทางโดยลำพังเข้าประเทศไทยได้ด้วยแล้ว

การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการคัดเลือกพื้นที่ดังกล่าว  โดยพื้นที่ที่จะได้รับคัดเลือกนั้นต้องมีการดำเนินงานตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนและจะต้องมีการประเมินตนเองของแต่ละจังหวัดในด้านต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมที่แตกต่างกัน ในส่วนของมาตรการของรัฐที่เกี่ยวกับสถานประกอบการต่าง ๆ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการให้ความสนใจในการขอรับมาตรฐาน SHA จำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับมาตรฐาน SHA, SHA Plus และ SHA Extra Plus ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsha.com ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็ว มีขั้นตอนการใช้งานง่ายและมีระบบจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทะเบียนขอรับมาตรฐานเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

สำหรับประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายการเปิดประเทศ ด้านการสาธารณสุข ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งหมดแล้ว อีกทั้งได้มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม นอกเหนือจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ เช่น เข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร่วมวางแผน รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวกับการเกิดโรคโควิด – 19 อย่างต่อเนื่อง และร่วมกำหนดข้อเสนอสำหรับมาตรการในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ด้านแรงงาน รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ โดยเปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และมีมาตรการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามระบบ MOU ด้านการศึกษา ปัจจุบันได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้ผู้ที่มีอายุ 12 - 18 ปี และบุคลากรทางการศึกษาแล้ว อีกทั้ง กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุน การคัดกรองหาเชื้อโดยใช้ ATK ให้แก่นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา และมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น รูปแบบ On-line On-Site 

ด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันการสื่อสารและให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจต่อสาธารณะได้มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบและโปร่งใสแล้ว และสถาบันการเงินได้ดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระหนี้สินให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) ด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบสภาพคล่อง เช่น การจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนจัดทำมาตรฐาน SHA และในส่วนของข้อเสนอแนะอื่น ๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมีข้อเสนอการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้มาตรการสาธารณสุข อีกทั้งนโยบายการเปิดประเทศในปัจจุบันจะเป็นการเร่งสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง