ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยฝีดาษวานร การติดเชื้อจากสัตว์ป่าไม่ใช่ประเทศไทย แต่มาจากทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ ลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ  การนำเข้าต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคจากกรมอุทยานฯ ย้ำ! การระบาดที่ยุโรปจากคนสู่คนพบมาจากการร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน  ใครมีประวัติร่วมขอให้สังเกตอาการ  

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวถึงสัตว์ในประเทศไทยต่อความเสี่ยงโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox)  เช่น ลิงเขาสามมุก จ.ชลบุรี หรือลิงในพื้นที่ท่องเที่ยว ว่า ประเทศยังไม่เคยพบการรายงานโรคฝีดาษลิงในสัตว์ป่าของไทยมาก่อน สัตว์ป่าที่พูดถึงคือจากทางทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะ ลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ ซึ่งการนำเข้ามาอย่างถูกต้องจะต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคจากกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ความเสี่ยงจะอยู่ที่สัตว์ป่านำเข้ามา

“เราจึงให้กลุ่มผู้ที่สัมผัสสัตว์ป่าใกล้ชิดที่มาจากแอฟฟริกาไม่ว่าการนำเข้าด้วยวิธีใด และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจมีผู้ติดเชื้ออยู่ตอนนี้ ถ้ามีอาการป่วยก็ขอให้พบแพทย์แจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ” นพ.จักรรัฐกล่าว

 

 

ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากสัตว์จะติดจากสัตว์ด้วยกัน ยังมีวงจำกัดในทวีปแอฟฟริกา ดังนั้นความเสี่ยงของสัตว์ในไทยจึงน้อย แต่ความเสี่ยงจะไปอยู่ที่การนำเข้ามาแบบลักลอบ โดยเรียนว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคจากสัตว์สู่คน เคยเจอครั้งแรกในลิง แต่จริงๆ สัตว์นำโรคไม่ได้มีแค่ลิง ยังมีสัตว์ฟันแทะ สัตว์ป่า ซึ่งทวีปแอฟฟริกาที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชนบบท จากการใกล้ชิด 

“แต่ช่วงนี้ที่มีการระบาดเพราะเมื่อต้นเดือนพ.ค. มีการติดเชื้อนอกประเทศ คือทางยุโรป แพร่ระบาดคนสู่คน จากกรณีที่มีคนร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน มีคนจำนวนมาก คนร่วมงานมีความใกล้ชิดกันมากๆ จึงพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นเราต้องกลับมาให้ความสนใจ เฝ้าระวังติดตาม ตรวจจับแต่เนิ่นๆ หากผู้ที่มีประวัติเข้าร่วมงานดังกล่าวเข้ามา เราจะได้ตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ระบาดวงกว้าง ” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงยากกว่าโควิดเพราะต้องใกล้ชิดกันมากๆ สัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ไม่ใช่เพียงไอจามเหมือนโควิด ดังนั้นเราจะเน้นย้ำในกลุ่มที่เข้าพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง รวมถึงผู้ที่มีแผล ตุ่มหนองที่ลักษณะคล้ายโรคสุกใส ไข้ทรพิษ และเตือนประชาชนที่จะเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่โควิด ดังนั้นเราต้องป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์  ประกาศแจง 9 ข้อ  "โรคฝีดาษวานร" ยังไม่จำเป็นเร่งรีบหาวัคซีน

-สธ.เข้มมาตรการป้องกัน "ฝีดาษลิง" ตั้งด่านสนามบินคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พร้อมสั่งการ รพ.สังกัดรับมือ

ทำความรู้จักโรค “ฝีดาษวานร” ไทยยังไม่พบ ยังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org