ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์  เยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เลือกฟอกไตในแบบที่ใช่ ณ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ พร้อมให้คำปรึกษาผู้ป่วยไต-ญาติ ‘ร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ร่วมกับ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมคณะ ที่ จ.อุตรดิตถ์  เยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เลือกฟอกไตในแบบที่ใช่ ณ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ 

ทพ.อรรถพร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในระบบบัตรทอง จำนวน 63,694 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง จำนวน 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 24,256 ราย และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO จำนวน 6,546 ราย จะเห็นได้ว่าโรคไตวายเรื้อรังเป็นที่คุกคามสุขภาพประชากร และมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2565 สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณ 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า บอร์ด สปสช.มีมติเพิ่มนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยทีมแพทย์จะให้ข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจเลือกการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่ง สปสช. เคารพสิทธิ์การตัดสินใจของผู้ป่วย พร้อมลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นางอัญชลี น้อยศิริ พยาบาลวิชาชีพ กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยเลือกวิธีการรักษาตามที่ตัวเองต้องการแล้ว ทางโรงพยาบาลก็มีการให้คำแนะนำอยู่เสมอ สำหรับผู้ป่วยที่เลือกการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ก็มีวิธีการสังเกตอาการติดเชื้อจากความขุ่นของน้ำยา หากวางมือบนถุงแล้วไม่เห็นเส้นลายมือให้รีบพบแพทย์ได้เลย วิธีนี้ก็จะช่วยให้ทราบตั้งแต่การติดเชื้อแรกเริ่ม

“โดยตามมาตรฐานการติดเชื้อของประเทศไทยคือ 24 เดือน/ครั้ง แต่ รพ.อุตรดิตถ์อยู่ที่ 43 เดือน/ครั้ง ซึ่งนานเกือบ 4 ปี ทำให้ผู้ป่วยหลายรายที่ล้างไตผ่านทางช่องท้องมีความมั่นใจในความปลอดภัย ไม่อยากเปลี่ยนเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม” นางอัญชลี กล่าว

 

 

ด้าน น.ส อังคาร สอนถา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่พูน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทในการทำงานนี้คือ รับผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลลับแล จากนั้นเราจะประเมินอาการหรือสุขภาพของผู้ป่วยก่อนส่งกลับบ้าน คือ ดูในเรื่องสถานที่ว่าเป้นอย่างไร จากนั้นจะดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาในเรื่องต่างๆหรือไม่ จากการอบรมการดูแลสุขภาพตนเองเบื้อง และถ้าหากพบปัญหาที่เราไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขให้ไม่ได้ ทางรพ.สต. เอง จะส่งไปที่ รพ.อุตรดิตถ์ เพื่อรายงานว่าเจอปัญหาอะไร 

ซึ่งปัจจุบัน เรายังไม่เคยเจอปัญหาเลย อาจเนื่องจากผู้ป่วยให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะผู้ป่วยเองก็มีความต้องการอยากหายกลับมาเป็นปกติ จึงมีการปฏบัติตัวตามคำสั่งและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่างเช่น การกินยา เป็นต้น และนอกจากนี้จะมีการอบรมชี้แจงให้ผู้ป่วยทุกคนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับโรคให้มีความสุขด้วย ส่วนการดูแลรักษาในด้านอื่นๆ อย่างตอนนี้ที่มีสถานการณ์โควิด, ไข้หวัดใหญ่ เราจะมีการแนะนำและพาไปรับวัคซีนเพื่อให้ครบตามกำหนด และคอยติดตามอาการของผู้ป่วยหลังรับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยไโรคไต 

 

ขณะที่ นางสาวบุษยารัตน์ นาคมูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลชุมชน  โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลหรือกลุ่มสหวิชาชีพนั้น เราจะรับเรื่องต่อจาก รพ.สต.ของพื้นที่ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาหรือมีอาการหนัก อย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มมีอาการไม่ดีหรือแย่แล้ว อาการไม่ดีขึ้น เราก็จะมีการออกดูแลหรือเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการจ่ายยา การรับประทานอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้หากเกิดปัญหาในเรื่องใดเราจะมีหน่วยประสานงานกันอยู่แล้ว มีเครือข่ายที่เข้มแข็งและผู้ป่วยจะให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด

 

ในช่วงบ่ายคณะลงพื้นที่ เยี่ยมนางสุธี เจริญผล ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  โดยนายอัศม์เดช เจริญผล ลูกชายของนางสุธี กล่าวว่า การรักษาด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติเป็นผลดีต่อครอบครัวมาก เพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย และทำให้ตนสามารถไปทำงานประกอบอาชีพได้ทั้งวันเพื่อหารายได้มาใช้ในครอบครัว โดยไม่ต้องกลับมาเปลี่ยนน้ำยาระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การล้างไตทางช่องท้องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาไม่พบการติดเชื้อในช่องท้องและการติดเชื้อที่แผลช่องทางออกสายล้างไต