ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเปิดคำนิยาม “ผู้ป่วยสงสัย-ผู้เข้าข่าย-ผู้ป่วยยืนยัน” ฝีดาษวานร  ย้ำ! เสี่ยงต่ำไม่ต้องกักตัว แต่เสี่ยงสูงกักตัว 21 วัน ส่วนยืนยันต้องมีผลทางห้องปฏิบัติการ

 

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร ว่า  สำหรับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร จะมี 2 ส่วนหลักๆ คือ อาการแรกมีไข้  ร่วมด้วยเจ็บคอ หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยต้องร่วมกับอาการทางระบาดวิทยากำหนด ส่วนอาการที่สอง คือ มีผื่นตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว แขนขา แต่ลำตัวจะเล็กน้อย ตรงเอว ไม่มาก ลักษณะจะเป็นผื่นก่อน และตุ่มนูน เปลี่ยนเป็นน้ำใส ปรับเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ด บวกกับประวัติทางระบาดวิทยา

โดยประวัติที่เชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ข้อหลักๆ

1.ประวัติเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ ที่มีการระบาดภายในประเทศ 21 วัน

2.ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดฝีดาษวานร

3.ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีแอฟริกา ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า ฝีดาษวานร แม้เป็นลิง แต่สัตว์ป่าที่แพร่โรคจะมีสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น ทั้งหนู หรือลิง แต่ต้องเป็นสัตว์นำเข้าจากแอฟริกาเป็นหลัก ลิงไทยที่ไม่ได้มีประวัติเชื่อมโยงแอฟริกา หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้านจึงไม่เชื่อมโยงทางระบาดวิทยา  ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกาอยู่แล้ว

“ขอย้ำว่า ผู้ที่เป็นผู้ป่วยสงสัย ไม่ว่าจะมีไข้ หรือมีผื่น ต้องมีประวัติเชื่อมโยงกับทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง 3 ข้อดังกล่าว นี่คือนิยามที่ใช้เฝ้าระวังฝีดาษาวานรตอนนี้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  แต่หากเป็นผู้ป่วยสงสัยแล้ว แต่มีประวัติใกล้ชิดมากกว่านั้น เช่น สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย หรือสัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วยหรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณืในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายในระยะ 2 เมตรตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายฝีดาษวานรเช่นกัน คือ ต้องมีประวัติอาการ 21 วัน บวกกับสัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น แต่ทั้งผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยเข้าข่าย หากมารักษาในสถานพยาบาลจะต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรอง ตรวจหาเชื้อว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรหรือไม่ ซึ่งต้องมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันด้วย  กรณีสงสัยหรือเข้าข่ายอาจต้องพิจารณาแยกกัก 21 วัน หากไม่เจอก็อาจเป็นโรคอื่น แต่หากเป็นฝีดาษวานรก็รักษาอาการต่อไป

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค.2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ  ส่วนประเทศไทย ข้อมูล ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานในประเทศ ซึ่งต้องย้ำว่า ฝีดาษวานร ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  ไม่มีการกักตัวจนกว่าจะพบผู้ป่วย ซึ่งไทยมีการติดตามเฝ้าระวังโรคในสนามบิน  โดยจะมีการแจกคิวอาร์โค้ดให้ดาวน์โหลด เพื่อให้สังเกตอาการ และหากมีให้รายงาน โดยรีบมารักษาตัวในสถานพยาบาล

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ไทยติดตามสัมผัสใกล้ชิด "ฝีดาษวานร”  12 ราย หลังออสเตรเลียแจ้งมาต่อเครื่องที่ไทย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org