ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะทางออกปมปัญหาเด็กและวัยรุ่น เริ่มก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ชี้กรณีนร.ม.2 ทำร้ายครู โรงเรียนต้องฟังทุกฝ่าย ช่วยผ่อนคลาย ไม่ยั่วยุให้เกิดความโกรธหรือรู้สึกผิด ห่วง "วัยรุ่นตอนต้น" เจอปัญหาก้าวร้าวมากที่สุด เหตุเป็นจุดเปลี่ยนร่างกาย-ฮอร์โมน ขอให้รู้เท่าทันร่างกายและอารมณ์ แนะวิธีควบคุมอารมณ์อย่างสมดุล

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีข่าวเหตุการณ์เด็กนักเรียน ม.2 ทำร้ายครูจากความไม่พอใจที่ถูกตัดผม ว่า ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งตัวผู้ก่อเหตุหรือผู้รับความรุนแรง ย่อมมีผลกระทบทางจิตใจที่ย่ำแย่ตามมา จึงต้องมีการดูแล ซึ่งทางโรงเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจช่วยดูแลได้ก่อน หัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายและสงบให้เร็วที่สุด ไม่ยั่วยุ "ความโกรธและความรู้สึกผิด" ซึ่งเป็น 2 ตัวร้ายที่จะทำลายกันและกัน ควรจะมีการสื่อสารเพื่อที่จะรับฟังความรู้สึกของทุกฝ่าย และเมื่อใจเย็นลง สงบลงแล้ว การบอกเล่าความรู้สึกต่างๆ จะนำไปสู่ความเข้าใจกันได้ง่าย และนำไปสู่วิธีคลี่คลายปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าเรามุ่งหน้าว่าตัดสินใครผิดใครถูก ไม่มีพื้นฐานความไว้วางใจและไมมีการรับฟังกัน เรื่องเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และเป็นความเจ็บปวดและความสูญเสียของทุกฝ่ายได้ 

เมื่อถามว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กในวัยนี้มีการแสดงออกถึงความรุนแรง  พญ.อัมพรกล่าวว่า เราเพิ่งหารือกันในกรมสุขภาพจิตว่า ขณะนี้ปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงและปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น กลุ่มที่เราเจอเยอะสุดคือเด็กมัธยมต้น อธิบายได้จกาการเปลี่ยนแปลงตามวัย เป็นช่วงวัยที่ก้าวจากเด็กมาสู่ความเป็นวัยรุ่นที่ชัดเจนที่สุด พอเป็นวัยรุ่น ความคิดหุนหันพลันแล่น ความฉุนเฉียวอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและระดับฮอร์โมนมีแน่นอน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจของเขา มุมหนึ่งคือดิ้นรนต้องการเป็นตัวของตัวเอง อีกมุมหนึ่งมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่พร้อม จึงมีความลักลั่นอยู่ในเรื่องวุฒิภาวะ เพราะฉะนั้น จุดรอยต่อประมาณ 2-3 ปีความเป็นวัยรุ่นตอนต้น ทำให้เด็กๆ มักจะมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างไม่เหมาะสมนัก

"ตัวเด็กต้องพยายามเข้าใจตัวเองและเรียนรู้ที่จะใจเย็นลง มีสติมากขึ้น คนรอบข้างเด็กเองต้องพยายามให้โอกาส รับฟังเขา มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่จะค่อยๆ เรียนรู้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ ซึ่งผ่านช่วงเวลายากๆ 1-2 ปีนี้ไป เขาจะกลายเป็นวัยรุ่นที่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้" พญ.อัมพรกล่าว

 

ถามต่อว่าเด็กช่วงวัยรุ่นดูเหมือนไม่ค่อยรับฟังผู้ใหญ่ เพราะมีความคิดของตนเอง สุดท้ายจะกลายเป็นลักษณะที่เขาต้องคิดได้ด้วยตัวเองหรือไม่ หรือคนรอบข้างจะช่วยได้อย่างไร พญ.อัมพรกล่าวว่า ต้องเป็นองค์ประกอบร่วมกัน ถ้าเด็กจะคาดหวังให้ทุกคนเข้าใจได้ตลอด อาจเกิดขึ้นได้บ้างแต่ไม่เสมอไป ผู้ใหญ่เองผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นมาหลายคนก็เข้าใจถึงความรู้สึกนั้น แต่บ่อยครั้งผู้ใหญ่เองมีข้อจำกัด มีความเครียด มีความทุกข์ในชีวิต ทำให้การควบคุมอารมณ์ของผู้ใหญ่ในบางจังหวะอาจหย่อนยานไปบ้าง จุดอ่อนที่เพลี่ยงพล้ำตรงนี้ที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ หากย้อนมองอีกมุมว่า ผู้ใหญ่เองส่วนหนึ่งพยายามดูแล แต่ถ้าไม่พร้อมเด็กเองก็ต้องพยายามเรียนรู้โลกในแง่บวกด้วย มองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาทำให้เราได้เรียนรู้การปรับตัวของชีวิต สำคัญคือเด็กต้องรู้ว่าตัวเองมีค่าและพยายามที่จะเรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง คอยเฝ้าตามสังเกตอารมณ์ตัวเองให้ทัน ถ้ารู้ว่าตัวเองโกรธก็ต้องชะลอความโกรธนั้นให้ควบคุมอารมณ์โกรธและด้านลบได้

"ถ้าเราฝึกที่จะรู้อารมณ์ตัวเองและควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ทัน และใส่ใจความรู้สึกคนรอบข้าง สร้างทักษะที่จะมีความเข้าใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้ เด็กๆ จะมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้ชีวิต ก็จะเป็นเหมือนรางวัลทำให้เรามั่นใจจะทำสิ่งที่ดีขึ้นในการอยู่ร่วมกับคนอื่นต่อไป หมอไม่อยากให้เด็กโกรธตัวเอง หากโมโหหรือหลุดพฤติกรรมด้านลบออกมา แต่ขอให้มองสิ่งทีเกิดขึ้นนั้นเป้นบทเรียนว่าเราจะไม่พลาดพลั้งทำสิ่งที่ไม่น่ารักแบบเดิมซ้ำ" พญ.อัมพรกล่าว

ถามถึงทริคในการควบคุมอารมณ์โกรธ ความฉุนเฉียวสำหรับวัยรุ่น  พญ.อัมพรกล่าวว่า การจะช่วยลดอารมณ์โกรธและฉุนเฉียวลงได้ คือ การฝึกมองให้เห็นข้อดีของตัวเอง ตื่นเช้ามานึกว่าเรามีสิ่งดีอะไรบ้างในชีวิตตัวเอง 1-2 ข้อ และมองเห็นข้อดีของคนรอบข้างเรา ครอบครัว เพื่อน ครู โรงเรียน ที่อยู่รอบตัวเรามีอะไรเป็นสิ่งที่ดีบ้าง การมองเห็นข้อดีตัวเองและคนรอบข้างเป็นบทที่หนึ่งของการมองโลกในทางบวก ทำให้ชีวิตมีคุณค่า 
ส่วนเมื่อเกิดความโกรธหรือฉุนเฉียวขึ้นมาแล้วนั้น วิธีง่ายๆ คือ การเบี่ยงเบนตัวเองจากความโกรธนั้นชั่วขณะ อย่างโมโหอยู่รู้ทันตัวเองก็ดูหนังฟังเพลงไป หรือสมมติว่าวิธีนั้นไม่ถนัดหรือไม่คุ้น อาจระบายความรู้สึกโกรธในรูปแบบที่ไม่เป็นอันตรายต่อใคร บางคนใช้วิธีการเขียนใส่กระดาษแล้วฉีกกระดาษทิ้ง บางคนชกกระสอบทรายหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ บางคนซักผ้าการออกแรงลงไปเยอะๆ เหมือนได้คลายความเกรี้ยวกราดลงไปบ้าง เป็นการยักย้ายพลังงานความโกรธ ไปเป็นวิธีสร้างสรรค์อื่นๆ

"อีกอย่างที่ดียิ่งขึ้นกว่า คือ มองหาคนมีวุฒิภาวะแล้วบอกเล่าหรือระบายให้เขาฟัง ทำให้เราลำดับความคิดนั้นอีกครั้ง ถ้าได้คนฟังที่มีวุฒิภาวะจะช่วยจัดระเบียบความคิดเรา บางทีพอพูดเสร็จจะหายโกรธแล้วและยังมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองที่ต้องปรับปรุงด้วย วิธีการเดียวกันนี้ในเด็กที่โตขึ้นมานิดนึง ใช้วิธีการเขียนระบายก็ช่วยได้เช่นกัน เขียนเสร็จจะจับประเด็นตัวเองได้ว่า เราพลาดตรงไหน เราผิดตรงไหน และเราสามารถพัฒนาอะไร ทั้งหมดนี้ยอดเยี่ยมที่สุดคือการหาที่มาของความโกรธ รู้ที่มาเพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องโกรธ หรือมีปัญหาทางจิตใจแบบที่เคยเกิดไปแล้ว การป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้วยสติและปัญญาคือสุดยอดของการพัฒนาตนเอง" พญ.อัมพรกล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง