ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ฝีดาษวานรแม้ระบาด แต่ไม่รุนแรง แตกต่างจากโควิด  เพราะโควิดช่วงแรกความรุนแรงสูง แต่ฝีดาษวานร ติดเชื้อค่อนข้างช้ากว่า ความจำเป็นในการให้วัคซีนคนทั่วไปอาจไม่จำเป็น แต่อาจให้คนเฉพาะกลุ่ม เบื้องต้นหารือซีดีซีสหรัฐ แสดงเจตจำนงสนใจ แต่ต้องดูประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีการพิจารณากรณีโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังระดับที่ 56  และกำหนดชื่อและอาการสำคัญ โดยให้ชื่อทางการว่า ฝีดาษวานร เพื่อระลึกถึงคุโณปการ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งเป็นผุ้ตั้งชื่อนี้นานแล้วก่อนจะมีการระบาดมาหลายปี  โดยทั้งให้มีการประกาศอาการสำคัญ คือ  มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ผื่น มีตุ่มบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นตุ่ม หรือตุ่มหนอง หรือตุ่มแผล อาจเกิดศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ หรือรอบทวารหนัก บางตุ่มเกิดฝ่ามือฝ่าเท้าได้ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กองระบาดวิทยากำหนดหลักเกณฑ์ และนิยามในการเฝ้าระวัง

นพ.โอภาส กล่าวว่า  กรณีวัคซีนฝีดาษวานร ทางประเทศไทยได้มีการหารือหลายประเทศ เมื่อเช้านี้ โดยกรมควบคุมโรคได้หารือกับทาง รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา หรือ  CDC  เกี่ยวกับวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนฝีดาษวานรรุ่นใหม่ๆ หากมีจะแจ้งให้เราทราบ ต้องนำเรียนว่า วัคซีนเดิมเป็นวัคซีนโรคฝีดาษคน ซึ่งกำลังทดลองฝีดาษวานร โดยเราแสดงเจตจำนงว่า หากวัคซีนมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไทยขอแสดงเจตจำนงที่สนใจ เพราะการจะนำมาใช้ต้องดูว่า 1.มีประสิทธิภาพหรือไม่กับฝีดาษวานร 2.มีผลข้างเคียงขนาดไหน เป็นที่ยอมรับหรือไม่ 3.ต้องพิจารณาสถานการณ์ระบาด และ4. ความสามารถในการจัดหา ก็ต้องพิจารณาทั้งหมด ซึ่งฝีดาษวานรดูเหมือนความรุนแรงไม่มากนัก  จึงต้องดูปัจจัยทั้งสี่ประการควบคู่ แต่การเตรียมการวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะท่านรองนายกฯ ได้เน้นย้ำไว้  

เมื่อถามว่า วัคซีนฝีดาษวานร จะมีความคืบหน้าจาก CDC สหรัฐเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  เขาจะไปดูข้อมูล และจะแจ้งเราเป็นระยะ ซึ่งในหลักการเราแจ้งว่าเราสนใจ อย่างไรก็ตาม อันนี้จะต่างจากโควิด เพราะโควิดช่วงแรกความรุนแรงสูง แต่ฝีดาษวานร ติดเชื้อค่อนข้างช้ากว่า ความจำเป็นในการให้วัคซีนคนทั่วไปอาจไม่จำเป็น แต่อาจให้คนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งก็ต้องประสิทธิภาพก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ได้ จึงต้องมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

เมื่อถามว่ามีการประเมินสถานการณ์ฝีดาษลิงทั่วโลกอย่างไร  นพ.โอภาส กล่าวว่า  ถ้าดูตอนนี้ คือ ระบาดได้ แต่ไม่หนักแบบโควิด แต่เราก็ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง และมีระบบเฝ้าระวัง ทั้งสนามบิน โรงพยาบาล สถานพยาบาล หากเจอคนไข้สงสัยก็จะได้พิจารณาได้ เพราะตอนนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ประชุมเห็นชอบก็จะเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณา และมีประกาศในราชกิจจาฯ ก็จะดำเนินการต่างๆได้