ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ยุคใหม่! ลดความแออัดในรพ. ปรับบริการทางการแพทย์ไปหาผู้ป่วยในลักษณะรักษาที่บ้าน(Home Base) ทุกที่ทุกเวลา  ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ นำร่องทำโฮมวอร์ด(Home Ward) เน้นบริการการแพทย์จากผู้ป่วยเป็นหลัก ชูมหกรรมกรมการแพทย์ วันที่ 8-10 ก.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565  ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวในการแถลงข่าวมหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์ ว่า ตามเป้าหมายของกรมการแพทย์ปี 2565 คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำบริการทางการแพทย์ไปหาผู้ป่วยในลักษณะรักษาที่บ้าน(Home Base) ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องกับการลดความแออัดในโรงพยาบาล(รพ.)ด้วย โดยวันที่ 1 ก.ค.65 นี้จะมีการนำร่องทำโฮมวอร์ด(Home Ward) เน้นการบริการทางการแพทย์จากผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่จากตัวโรค โดยมีเงื่อนไขว่าอาการป่วยต้องไม่แย่ลงและผู้ป่วยมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจกับแพทย์ได้มากขึ้น 

 

ทั้งนี้ จะมีการเริ่มใช้ในบางโรคก่อน เช่น โรคเบาหวาน ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงจากเดิมต้องนอน รพ.ทุกรายก็จะให้ดูแลจากบ้าน โรคแผลกดทับที่เมื่อรักษาที่บ้านผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้มากกว่าอยู่ในโรงพยาบาล โดยข้อสำคัญคือ จะมีการเทเลเมดิซีน(Telemedicine) จากแพทย์ผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ตั้งเป้าหมายในจัดการใหม่จากเดิมเป็นรูปแบบราชการสั่งการลงมา(Top down) ให้เป็นรูปแบบ Open Platform คือให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งเอกชน ประชาชน หรือหน่วยงานต่างๆ ภายใต้นโยบาย โปร่งใสและพูดความจริง

 

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรมการแพทย์จะปรับการบริการเป็นเชิงรุกให้มากขึ้น เช่นบริการเจาะเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานที่บ้าน เพื่อลดการมารอคอยคิวใน รพ. หลังอย่างที่พบการระบาดโควิดที่ผ่านมาเราใช้เทเลเมดดิซีนมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นการออกจากคอมฟอร์ดโซนทั้งแพทย์และผู้ป่วย ที่เดิมจะต้องไปพบหมอที่รพ.เท่านั้น ทำให้ตอนนี้รพ.หลายแห่งได้ตั้งเป้าหมายการทำเทเลเมดดิซีนให้ถึง 20% ภายในปีนี้ด้วย รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ผู้ป่วยและญาติสามารถดูข้อมูลผ่านแอพพ์ได้ พร้อมปรับรูปแบบของสถานบริการของรัฐ ยกระดับให้เป็น VIP คือ Value added Impression Personal เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยทั้งหมดนี้จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระงานของรพ.และบุคลากรมากขึ้น จึงต้องมีการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นที่มาของการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของกรมการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมทางการแพทย์ การจัดมหกรรม 80 ปีกรมการแพทย์จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยสะดวก ได้มาตรฐานจากหน่วยงานทางการแพทย์ที่มีความเป็นเลิศครอบคลุมกว่า 13 สาขา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดงานใจการเมืองหลวงของประเทศอีกด้วย   

 

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า นโยบาย สธ. โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กำหนดให้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและสร้างการแพทย์วิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐ รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้กรมฯ ยังมีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นพลวัตในปัจจุบัน โดยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์และสถานที่ให้มีความพร้อม ทันสมัยและได้มาตฐานครบรอบด้าน อาทิ ศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ การพัฒนาการดูแลผู้ป่วย NCDs ในรูปแบบ Virtual NCD Clinic การพัฒนา DMS Co-Creation Training Center การพัฒนาศูนย์การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) รวมทั้งการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนศักยภาพทางการแพทย์ภายใต้โปรเจกต์ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า มหกรรมกรมการแพทย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค. ที่ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้สนใจร่วมงานสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ทางระบบออนไลน์ ภายในงานมีบริการจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ 13 ด้าน ใน 15 หมวด ตรวจสุขภาพให้ประชาชนได้ฟรี คาดว่ารองรับได้ถึงวันละ 1 พันคน ได้แก่ 1.ด้านระบบสมอง ที่ให้บริการคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง และบริการคัดกรองภาวะสมองเสื่อม 2.ด้านการมองเห็น ให้บริการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคต้อกระจก ต้อหิน และเบาหวานขึ้นจอตา รวมทั้งบริการ Lid Spa นวดและทำความสะอาดเปลือกตาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง 3.ด้านการได้ยิน ให้บริการตรวจการได้ยินด้วยเครื่องวัดพร้อมตู้เก็บเสียงมาตรฐาน บริการตรวจช่องหู 4.ด้านโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม 5.ด้านสุขภาพฟัน 6.ด้านโรคมะเร็งและพยาธิวิทยา 7.ด้านโรคเด็ก 8.ด้านโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ 9.ด้านผู้สูงอายุ 10.ด้านการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มผู้ติดยาและสารเสพติด 11.ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 12.ด้านการจัดบริการเพื่อพระภิกษุและสามเณร และ 13.ด้านโรคผิวหนัง