ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์เผยข้อมูล " BA.4 -BA.5 " พุ่งในไทยแล้วกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เดินทางจากตปท. พบพื้นที่กรุงเทพฯ   ขอจับตา 2 สัปดาห์ ยังไม่ชัดรุนแรงหรือไม่ WHO  ให้เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตา VOC-LUM  แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกันตัวส่วนบุคคล สวมแมสก์

 

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงสายพันธุ์โอมิครอนเท่านั้นที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตอนนี้แทบไม่มีสายพันธุ์อื่นๆ หลงเหลืออยู่เลย ทั้งนี้ในส่วนของโอมิครอนนั้นมีสายพันธุ์ย่อยหรือลูกหลานที่น่ากังกวล คือ BA.2.12.1 , BA.2.9.1 BA.2.11 BA.2.13 และ BA..4 BA.5  แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ BA..4 BA.5  แต่เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา ทำให้เกิดอันตรายกับปอดมากขึ้น จึงมีความกังวลว่าโอมิครอน BA.4 BA.5 จะแพร่เร็ว และมีความรุนแรงเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา 

 

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM ซึ่งมีแนวโน้มทำให้มีการแพร่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่าสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนตัวอื่นๆ มีการติดเชื้อลดลง มีเพียงสายพันธุ์ BA.5 เท่านั้น ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 16 % เป็น 25 % จึงต้องจับตาใกล้ชิดในสายพันธุ์ BA.5 มากกว่า 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีการตรวจแบบเร็วพบ2 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว 181 ราย ส่งรายงานเข้าไปยัง GISAID แล้ว และในสัปดาห์หลังพบมีการส่งเคสเข้ามาตรวจมากขึ้น จากทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบราวๆ 81 ตัวอย่าง กำลังจะรายงานเข้าไปยัง GISAID แต่ตัวเลขอาจจะทับซ้อนกับรายงานก่อนหน้านี้ 

 

ดังนั้น จึงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามีการพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวประมาณ 200 ตัวอย่างนิดๆ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์ตรวจ เลยส่งตรวจมามาก แต่ไม่ใช่ว่าพบความผิดปกติเลยส่งมาตรวจ แต่เพราะติดตามสถานการณ์โลก จึงเฝ้าระวังกันมากขึ้น ทั้งนี้ 72.7% เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 27.3% เป็นการติดเชื้อในประเทศ โดยสัปดาห์หลังนี้มีรายงานพุ่งพรวดขึ้นมา 50% คงต้องรออีก 2-3 สัปดาห์ถึงจะเห็นแนวโน้มจริงของการระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 

เมื่อถามว่า ในจำนวนเคสที่พบ BA.4 BA.5 นั้นกลุ่มอาการเป็นอย่างไรบ้าง และมีรายงานว่าในพื้นที่กทม.มีรายงานผู้ติดเชื้อมีอาการ อัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้น 10 % มีความสัมพันธุ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ นพ.ศุกภิจ กล่าวว่า ไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการหนัก หรือเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เข้ามา ส่วนพื้นที่กทม.ที่มีรายงานอาการหนักครองเตียงเพิ่มขึ้นนั้น เราไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ในกลุ่มผู้มีอาการหนักตรงนี้ ส่วนเรื่องยารักษาโรคปัจจุบันที่มีอยู่นั้นยังสามารถรักษาได้  

 

“ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แต่คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอน BA.1 BA.2 มาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 BA.5 ซ้ำได้ โดยคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะพบว่า เมื่อมาติด BA.5 ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลดลงไปมาก 6-7 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลด 1-2 เท่า ดังนั้น ถ้าฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น เพราะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงและอาการต่างๆ และมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม แม้จะมีการออกคำแนะนำว่าให้ใส่ตามสมัครใจ แต่การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ของประชาชน ขอให้ถามตัวเองว่าหากเราอยู่คนเดียวไม่มีปัญหาอะไรอยู่ห่างไกลจากผู้คนก็ถอดได้ แต่ถ้าตอนไหนที่คิดว่ามีความจำเป็นไปพูดคุยกับคน ก็ใส่ไว้ป้องกันหลายโรคได้”นพ.ศุภกิจ กล่าว