ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เผยงานวิจัยที่ทำการศึกษาใน 3 ประเทศ พบกลุ่มนักเรียนมัธยมอายุ 15-16 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ย 7.5%  ผลการศึกษาพบว่าเด็กมัธยมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคหอบหืดเป็น 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ใกล้เคียงกันทั้งกลุ่มที่สูบประจำหรือแค่เคยลองสูบ

วันที่ 27 มิถุนายน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยงานวิจัยใหม่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา หรือ American Journal of Preventive Medicine ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ที่ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคหอบหืดในกลุ่มวัยรุ่นอย่างเป็นระบบ โดยรวบรวมจากงานวิจัย 10 ชิ้น ที่ทำการศึกษาใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาหลีใต้ มีจำนวนกลุ่มประชากรที่ศึกษาเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมอายุ 15-16 ปี รวม 483,948 ราย มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ย 7.5%  ผลการศึกษาพบว่าเด็กมัธยมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคหอบหืดเป็น 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ใกล้เคียงกันทั้งกลุ่มที่สูบประจำหรือแค่เคยลองสูบ นอกจากนี้ก็พบความเสี่ยงของโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 1.22 เท่าในกลุ่มนักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดาเช่นกัน

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบบทางหายใจไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเอง และไม่ใช่เกิดเฉพาะโรคหอบหืดเท่านั้น แต่จากการศึกษายังพบว่า คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่ได้รับควันมือสองจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า และมีอาการหอบเหนื่อยเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวกระตุ้นการเกิดหอบหืด เนื่องจากไอระเหยและสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปทำให้เกิดการระคายเคือง และอักเสบในทางเดินหายใจ ตัวอย่างสารเคมีในไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าได้แก่ นิโคตินที่เป็นสารเสพติด โพรพอลีไกลคอล กลีเซอรีน สารก่อมะเร็ง น้ำยาดองศพ หรือ ฟอร์มาลีน โลหะหนัก เช่น  นิกเกิล ตะกั่ว ดีบุก สารแต่งกลิ่นรส และที่สำคัญคือ สารอนุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถแทรกซึมลึกไปถึงถุงลมปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ขอย้ำว่าการที่บอกว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแค่ไอน้ำเป็นความเข้าใจที่ผิด

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและบริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นผ่านฝ่ายการเมือง ทั้งระดับรัฐมนตรี และชั้นกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า โดยมักจะอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานสนับสนุน จึงอยากฝากข้อคิดไว้ว่า ปัจจุบันองค์กรสุขภาพระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลกไม่เคยพูดว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และอันตรายระยะยาวยังไม่มีใครรู้  เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งแพร่หลายมาประมาณ 10 ปีนี้เอง  คำพูดที่ว่าอันตรายน้อยกว่าเป็นคำกล่าวอ้างจากบริษัทบุหรี่เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ  ปัจจุบันมีงานวิจัยทยอยออกมามากมายที่ทำให้เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ และที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าจะกระทบรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทำให้เกิดการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ติดสารนิโคติน ซึ่งส่วนใหญ่จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต

อ้างอิง
Association Between E-Cigarettes and Asthma in Adolescents: A Systematic Review and Meta-Analysis: https://doi.org/10.1016/j.amepre.2022.01.015 
Secondhand nicotine vaping at home and respiratory symptoms in young adults: https://thorax.bmj.com/content/early/2022/01/05/thoraxjnl-2021-217041