ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวถือเป็นภารกิจหลักหลังโควิด-19 โดยมีเรื่อง wellness เป็น 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่เมืองสุขภาพ เพื่อผลักดันบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (World Class Wellness Destination)

ไม่นานมานี้ในการสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (Thailand Tourism Congress 2022) ได้มีการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาไปสู่การเป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ของโลกในฐานะ World Class Wellness Destination ภายใน 5 ปี ในคอนเซปต์ “Living in Sustainability and Prosperity for All”

แนวทางการพัฒนาคือ ยุทธศาสตร์  Healthy หมายถึงสุขภาพดี รังสิมันต์ กิ่งแก้ว อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพดังกล่าวว่า

“เรามองว่าตัวพื้นที่ในเขตอันดามันมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ สำหรับภูเก็ตอาจจะมีความได้เปรียบจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มอันดามันด้วยกันในด้านการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ด้วย เพราะมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพสูงหลายแห่ง กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Wellness) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ถูกวางไว้ในการขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ต และสอดรับทั้งในส่วนของกลุ่มอันดามันและประเทศ”

สำหรับแนวทางการพัฒนา รังสิมันต์กล่าวว่า หลักๆ เป็นเรื่องของบุคลากร การตลาด เพราะที่สุดแล้วธุรกิจเชิงส่งเสริมสุขภาพหรือธุรกิจการท่องเที่ยวมีพื้นฐานสำคัญคือเรื่องของคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาคือการยกระดับพนักงาน ผุ้ประกอบการให้มีศักยภาพในการทำธุรกิจหรือการท่องเที่ยวด้านสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีเรื่องของการตลาดเข้ามาสนับสนุนที่เกี่ยวกับ Social Media ต่างๆ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม โดยโมเดล  Healthy ประกอบด้วย

H-Human resources development พัฒนาหลักสูตรด้าน wellness ทั้งรูปแบบ upskill/reskill/newskill ในด้านที่ขาดแคลน และผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม wellness ทั้งห่วงโซ่อุปทาน

E-Education มีหลักสูตรเฉพาะที่เปิดสอบในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรด้าน wellness พร้อมผลิตงานวิจัยและพัฒนา เช่น พฤติกรรมนักท่องเที่ยว การสร้างแบรนด์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

A-Advertising & Marketing ใช้อินฟลูเอนเซอร์ และ soft power ในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด ใช้การเข้าถึงฐานข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อการตัดสินใจในการทำการส่งเสริมการขาย รวมทั้งสร้างการรับรู้และแรงบันดาลใจในการเลือกประเทศไทยเป็นปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ

L-Laws & Regulations แก้ไขกฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและพฤติกรรมของลูกค้า ปรับหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่น ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐาน เช่น SHA Wellness และมีกฎบัตรในการรองรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ

T-Technology จัดทำฐานข้อมูลทางด้าน wellness เพื่อใช้ในการวางแผนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาพืช สมุนไพร หรือวัตถะดิบในท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมออกมาจำหน่ายในรูปแบบของที่ระลึกที่มีมูลค่าสูง

H-Happiness  ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดอัตรากการเจ็บป่วยจากโรค NCD และมะเร็ง ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เต็มใจจ่ายเพิ่มเพื่อตอบสนองคุณค่า ประสบการณ์และสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชสมุนไพรในครัวเรือนเพื่อนำมาใช้ในครอบครัวและต่อยดธุรกิจการส่งเสริมสุขภาพ

Y-Your support แต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับ ดูแล รับรองมาตรฐาน เพื่อช่วยให้การสร้างแบรนด์ของประเทศไทยในด้าน wellness มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งมีกลไกจากภาครัฐในการควบคุม กำกับและบังคับใช้กฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้เกิดผลสำเร็จแก่ผู้ประกอบการ ประชาชนและนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ยังกล่าวถึงการต่อยอดกัญชากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพว่า ยังค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทยหลังเพิ่งปลดล็อก เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน เนื่องจากในทางการแพทย์จะมีการนำไปทำให้เจือจางก่อนเอาประโยชน์มาใช้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือการนำไปใช้เพื่อการสันทนาการและการปรุงอาหาร ซึ่งหากไม่มีการศึกษาที่ดีพออาจใช้ในปริมาณมากเกินไปจนเกิดปัญหาอื่นๆตามมา

“ผมว่ามันค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่ กว่าจะลงตัวคงต้องใช้เวลาระดับหนึ่งเลยไม่ได้มองว่าจะเป็นตัวเด่นที่จะพัฒนาต่อยอดในเรื่อง wellness แต่ความเป็นไทยกับมันมีตัวเด่นอีกตั้งหลายตัวที่ยังเอามาใช้ไม่เต็มที่หรือยังไม่ได้พัฒนาศักยภาพของมันในการก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใกล้ตัวอย่างฟ้าทะลายโจร ซึ่งใช้ในการรักษาโควิดได้แต่ยังไม่ได้ทำมันเต็มที่ มันสามารถที่จะต่อยอดไปไกลมากกว่านี้ได้ สามารถส่งออกเป็นสินค้าแทนยาตัวอื่น สมุนไพรไทยที่มีคุณภาพมีอยู่เยอะมากแต่เรายังไม่ได้พัฒนาต่อยอดมันมากพอ”

รังสิมันต์ ยืนยันว่ากัญชาในเชิงการแพทย์ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการศึกษาและใช้กันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับอีกกลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ คงต้องใช้ความระมัดระวังในการจะก้าวไปสู่จุดนั้นหรือไม่ เนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบทไม่เหมือนกัน มันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบต้องศึกษาให้ดี ซึ่งก็มี Case Study หลายๆเมืองในโลกนี้ที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ในหลายเมืองก็ยังผิดกฎหมายอยู่ นั่นแปลว่ากัญชาในเชิงสันทนาการยังไม่ได้ผ่านการรับรอง 100% จึงคิดว่ายังเร็วไปที่จะผลักดันในเรื่องกัญชาเพื่อการสันทนาการเพราะอาจมีความสุ่มเสี่ยงกับหลายๆเรื่อง”