ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคชี้หลังไทยเตรียมเข้า Post-pandemic  เน้นจับตาตัวเลข “ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ-เสียชีวิต” เพราะจะสะท้อนสถานการณ์ความรุนแรง และระบบสาธารณสุขว่ารองรับได้หรือไม่ ย้ำ! วัคซีนโควิดยังช่วยลดรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ได้ แม้ป้องกันการติดเชื้อจะลดลงในวัคซีนทุกแพลตฟอร์ม เตรียมไฟเซอร์ฝาแดงให้เด็กเล็ก รอขึ้นทะเบียน อย.

 

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการระบุว่าสถานการณ์โรคโควิด – 19 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่าที่มีการรายงานราวๆ 10 เท่า ว่า ในข้อมูลทั่วโลกที่มีการรายงานขณะนี้ก็ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง มีการคาดการณ์ว่ามากกว่าตัวเลขที่รายงาน 7-8 เท่า ซึ่งการติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อและแนวโน้มการระบาดของโรคในส่วนของประเทศไทยนั้น  ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนในช่วงแรกๆ  อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากำลังจะปรับระบบเข้าสู่ Post-pandemic ตัวเลขที่ต้องติดตาม คือ ผู้ป่วยอาการหนักที่ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ว่าจริงๆ แล้วโรครุนแรงหรือไม่ ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ ซึ่งกรมควบคุมโรคมีระบบเฝ้าระวังอยู่

“ข้อมูลขณะนี้ อัตราการติดเชื้อป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 0.07 % ถือว่าใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการป่วยเสียชีวิต 1 ใน พัน หรืออยู่ที่ 0.1% ซึ่งไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้ตรวจทุกวัน และขณะนี้โรคโควิดยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าอีกหลายๆ โรค ต่อวัน” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 การฉีดวัคซีนโควิดป้องกันมีการพูดกันว่า ชนิด mRNA น่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆทุกตัว เมื่อเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ความสามารถในการป้องกันติดเชื้อลดทุกตัว ซึ่งตามทฤษฎีอย่าง BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ตรงสไปร์ทโปรตีน หรือโปรตีนหนามแหลม และเมื่อนำ mRNA มาสร้างก็จะโปรตีนที่สร้างสไปร์ทโปรตีน โดยทฤษฎีการตอบสนอง BA.4 และ BA.5 ก็จะลดลง แต่เป็นวัคซีนทุกแพลตฟอร์ม

“จริงๆ เชื้อกลายพันธุ์เร็วกว่าวัคซีนที่ผลิตได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง แต่ไม่ได้หมด  คือ ทั้ง mRNA หรือไวรัลเวคเตอร์ จะลดลง ส่วนเชื้อตายไม่ค่อยฉีด พบว่าประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อจะลดลง แต่ประสิทธิภาพลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิตยังมีอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพูดด้วยข้อมูล คือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือนจะช่วยลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้จริง จึงขอเชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปฉีด ทั้งกลุ่ม 608  กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่สื่อมวลชนที่ไปทำงานหลายๆที่” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนโปรตีนซับยูนิต หากมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นภูมิฯ ได้มากด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนนี้ ผลวิจัยต่างประเทศค่อนข้างน้อย ไม่สามารถบอกได้ว่าหากบูสเตอร์ดีกว่าหรือไม่  แต่ข้อมูลเบื้องต้นการบูสเตอร์ถือว่าใช้ได้  อย่างไรก็ตาม เรามีการกระจายให้ฉีดเป็นเข็มแรก หรือเข็มสอง หรือคนที่แพ้วัคซีนตัวอื่น หรือหากต้องการฉีดชนิดนี้ก็ถือว่าฉีดได้ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยการตายได้ แต่ BA.4 และ BA.5  ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อลดลง ซึ่งไม่ได้ลดมาก ลดระดับปานกลาง แต่เราต้องใช้มาตรการอื่นๆด้วย คือ สวมหน้ากากอนามัย

“สิ่งสำคัญขอให้มาฉีดวัคซีน อย่างเข็ม 3 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังพบมากที่ไม่มาฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนคนที่เจอกับคนมากๆ ทำงานผับ บาร์ คาราโอเกะ ก็มีความเสี่ยง บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ขอให้ฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน สามารถฉีดวัคซีนตัวไหนก็ได้ และการสวมใส่หน้ากากอนามัยยังจำเป็น ซึ่งจริงๆจะมีประโยชน์มากในคนมีเชื้อ เพราะใส่แล้วจะลดการแพร่เชื้อได้ แต่ที่ดีสุดคือ ทุกคนใส่ ส่วนจะต้องใส่ตลอดเวลาหรือไม่ก็ไม่เหมาะ หากอยู่ในที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ทุกคนต้องใส่ แต่หากอยู่กลางแจ้ง ออกกำลังกายอันนี้ไม่ต้องใส่” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กเล็ก นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบมีไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่ง อย.ได้ขอให้ผู้นำเข้ามายื่นทะเบียนกับ อย. โดยของไฟเซอร์ เรียกว่าฝาสีแดง โดยโดสลดลงขนาดกว่าของเดิมเป็น 10 เท่า เหมาะกับการฉีดเด็กเล็ก ซึ่งทางเราติดต่อไฟเซอร์ เพื่อขอแก้ไขสัญญา ที่ส่งไฟเซอร์เดิมปี 65 ขอไป 30 ล้านโดส จะขอเป็นตัวนี้เพิ่มเติมอยู่ในขั้นตอนเจรจา และขออนุมัติจากท่านรองนายกฯ เห็นชอบต่อไป