ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภัยภูเบศร เผย ผลการรักษาด้วยกัญชา ได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย นอนไม่หลับและสะเก็ดเงิน หนุนวิจัยต่อยอด ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ปลูก ผลิตและใช้  ตั้งแต่ ปี 2562 และยังเป็นรพ.แห่งแรกที่ เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โดยมีการให้บริการกัญชาการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยควบคู่กันไป ปัจจุบันทางโรงพยาบาลมีผู้ป่วยกว่า 2,000 รายที่รับยากัญชาจากคลินิกของโรงพยาบาล และผู้ป่วยราว ๆ 10,000 รายทั่วประเทศที่รับยาที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรผลิต 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวว่า จากประสบการณ์การให้บริการของโรงพยาบาล ทำให้เห็นศักยภาพของยากัญชาในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนไทย   โดยโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ตอบสนองต่อยากัญชาได้ดี คือ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการปวด นอนไม่หลับและเบื่ออาหาร กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง และโรคสะเก็ดเงิน โดยมีผู้ป่วยมากกว่าครึ่งที่สามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลงได้  ส่วนโรคปวดเส้นประสาท พาร์กินสัน ยังคงต้องติดตามผลการรักษาต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยยังมีจำนวนน้อย

ในด้านความปลอดภัยนั้น ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า เราเก็บข้อมูลผู้ป่วยทุกรายพบว่า ผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์จากยากัญชาแผนปัจจุบัน 20%-30% และยากัญชาแผนไทย 2%-5% แต่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถจัดการได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงสัปดาห์แรก และเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ มึนงง นอกจากนั้นยังพบว่ายากัญชาไม่ส่งผลต่อการทำงานของตับและไต หากผู้ป่วยนั้นตับและไตยังทำงานได้ดี แต่ในผู้ป่วยที่มีตับหรือไตทำงานไม่ดีแล้ว ยากัญชาก็อาจมีผล แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากกัญชาหรือไม่ เพราะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น โรค อายุ และยาอื่นที่ใช้ร่วมที่ส่งผลต่อการทำงานของตับและไตเช่นกัน

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง ในผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทที่ไม่ตอบสนองต่อยามาตรฐาน เราให้ยากัญชาไป พบว่าการลดลงของอาการปวดไม่มาก บางรายก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเราเจาะข้อมูลลงไป ก็พบว่าจากเดิมที่มีอาการปวดจนนอนไม่หลับ ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวด แต่สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น สิ่งนี้ก็เป็นชุดความรู้ที่เอาไปใช้ในผู้ป่วยรายอื่นๆ  หรือเรื่องของกัญชากับการรักษาแผลนั้น ก็เรียนรู้มาจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งหลายราย มักมีแผลที่ปะทุออกมาทางผิวหนัง เวลาแพทย์จ่ายยาให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยก็เอาไปทาแผลด้วย หยอดใต้ลิ้นด้วย ภายหลังมาบอกหมอว่าแผลหายดี เพราะเอายากัญชามาทา  ซึ่งเราก็พบผลแบบเดียวกันในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ซึ่งตรงนี้น่าสนใจเพราะในต่างประเทศพบว่า โรคผิวหนังที่มีการอักเสบ ต้องใช้ CBD จากกัญชง แต่เราลองคำนวณราคายาแล้วแพงมาก พอเห็นผลการรักษาด้วยกัญชาแล้วดี ก็ใจชื้น น่าจะได้ยาที่ราคาถูกลงเพราะกัญชาราคาถูกกว่ากัญชง ตอนนี้เราก็เลยพัฒนายาสารสกัดกัญชาผสมขมิ้นชัน เพื่อเสริมฤทธิ์ลดการอักเสบบนผิวหนัง

สำหรับแผนการที่เราจะทำต่อจากนี้ไป ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จะทำการปักหมุดกลุ่มโรคที่ยากัญชาได้ผลดี ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย นอนไม่หลับ และสะเก็ดเงินมาทำวิจัยต่อยอด ในขณะนี้ทีมงานได้รับการประสานจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการร่วมจัดทำโครงการวิจัยยากัญชาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยจะทำร่วมกับสถาบันหลายแห่ง ที่ทางการแพทย์เรียกว่า multicenter research ซึ่งเราเห็นโอกาสการใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ที่จะเป็นทั้งการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ

ในส่วนของอาการนอนไม่หลับนั้น เราก็จะติดตามและเก็บวิจัยต่อว่ายากัญชาหากใช้ต่อเนื่องจะมีผลกระทบต่อความจำหรือไม่ ก่อนที่จะนำไปใช้ทดแทนยานอนหลับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนในโรคสะเก็ดเงินนั้น เราคงนำมาบูรณาการกับคลินิกสะเก็ดเงินทางการแพทย์แผนไทยของเรา ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยในคลินิกประมาณ 60% ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสมุนไพรแบบรับประทาน  เรากำลังจะนำมาวิจัยเพิ่มเติมว่าหากใช้ยาทาภายนอกขี้ผึ้งกัญชาผสมขมิ้นชันเสริมเข้ามา จะเพิ่มผลการรักษาได้มากขึ้น