ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาชี้แจงกรณีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มลาขาดควันยาสูบ’ อ้างตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 4,500% จาก 1,714 คนในปี 2560 เป็น 78,742 คนในปี 2564 และใช้ข้อมูลนี้กล่าวหาว่านโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทยล้มเหลว จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่คนกลุ่มนี้กล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการเก็บข้อมูลผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2557 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 49,180 คน หรือคิดเป็น 0.09% ต่อมาการสำรวจเมื่อปี 2560 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลงเป็น 11,096 คนหรือคิดเป็น 0.02% ซึ่งเป็นปีที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เริ่มบังคับใช้ และมีการห้ามจำหน่าย นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และการสำรวจล่าสุดคือเมื่อปี 2564 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 78,742 คนหรือคิดเป็น 0.14%

“ระเบียบวิธีการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการสำรวจอย่างเป็นระบบใช้วิธีการสุ่มแบบ 2 ขั้นตอน หรือ stratified two-stage samplings เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากรไทยอย่างแท้จริง โดยการสำรวจในปี 2564 เก็บข้อมูลจาก 84,000 ครัวเรือนตัวอย่าง มีจำนวนทั้งสิ้น 164,406 คน เมื่อถ่วงน้ำหนักเป็นประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนเท่ากับ 57,021,841 คน” ผศ.ดร.ศรัณญา กล่าว

ด้านรศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา เฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 2.8 แสนคน (1.5%) เป็น 1.72 ล้านคน (11.3%) ระหว่างปี 2011-2021 หรือในอังกฤษที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุ 18 ปีขึ้นไปเพิ่มจาก 7 แสนคน (1.71%) เป็น 3.6 ล้านคน (7.1%) ระหว่างปี 2012-2021

“การอ้างว่าคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้น 4,500% ของกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านอกจากข้อมูลจะไม่ถูกต้องแล้วยังเป็นการบิดเบือนสร้างตัวเลขเกินความเป็นจริงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทบุหรี่ใช้มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเพื่อสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบและทำลายนโยบายความคุมยาสูบ เช่น ในอดีตที่บริษัทบุหรี่เคยหลอกประชาชนว่านิโคตินไม่ใช่สารเสพติด หรือบุหรี่ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปอด” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับที่บริษัทบุหรี่ทำมาแล้วในอดีต เช่น วิ่งเต้นนักการเมือง ให้ข้อมูลบิดเบือนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งดิสเครดิตบุคคลและองค์กรที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบ โดยมีข้อมูลที่พบว่าเครือข่ายนี้มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ต้องการล้มกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาขายในประเทศไทย จึงอยากฝากไปยังผู้กำหนดนโยบายให้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่คนกลุ่มนี้นำเสนออย่างรอบคอบ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org