ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันกัญชาทางการแพทย์ เดินหน้ารวบรวมข้อมูลงานวิจัย "กัญชาทางการแพทย์" ของทุกกรมทุกเขตสุขภาพ หวังนำมาเป็นข้อมูลชี้ชัดประโยชน์ คาด 1-2 สัปดาห์แล้วเสร็จ ย้ำ! ไม่เน้นให้ประชาชนนำมาไปใช้รักษาด้วยตนเอง แต่ต้องอยู่ในมือแพทย์ ส่วนนำมาใช้ทำอาหาร มีคู่มือแนะนำแจกปชช.

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2565 นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ว่า ในวันนี้ที่เราปลดล็อกกัญชาทางแพทย์มา ทางราชวิทยาลัยต่างๆ ไม่เคยค้านในการใช้เพื่อการแพทย์เลย เพราะมีงานวิจัยรองรับด้านการใช้รักษาโรคต่างๆ ทั้งยังมีการเข้าถึงกัญชาจากแพทย์แผนไทย และแผนปัจจุบันผ่านระบบคลินิกแบบบูรณาการ โดยผลข้างเคียงจากการใช้ก็น้อยมาก เพราะเรามีการคัดกรองผู้ป่วยก่อนว่ากลุ่มใดควรได้ยา กลุ่มใดมีโรคประจำตัวที่ใช้ยาประจำตัวอยู่ มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงอยู่ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขก็เร่งรณรงค์ให้ความรู้ในการนำไปใช้ประโยชน์ และข้อควรระวัง

“ตอนนี้เรายังไม่เน้นให้ประชาชนนำไปใช้รักษาโรคด้วยตนเอง ยังอยากให้อยู่ในมือของแพทย์มากกว่า ส่วนผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา เช่น ทำอาหาร เราก็จะมีคู่มือจากสถาบันกัญชาฯ แจกไปให้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมอนามัย ที่ร่วมกันให้ความรู้ว่า ควรใช้อย่างไรต่ออาหาร 1 เมนู เพื่อความปลอดภัย” นพ.กิตติกล่าว

เมื่อถามถึงว่าหลังปลดล็อกมาแล้ว ส่วนใหญ่จะพบผลกระทบกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทางสถาบันกัญชาฯ มีแนวทางอย่างไรเพิ่มเติม นพ.กิตติ กล่าวว่า ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ทำเรื่องการแพทย์เป็นหลัก ฉะนั้น การนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมก็จะมีทาง อย. กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำหนดให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพรควบคุมอยู่ ระหว่างนี้ก็จะต้องรอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่จะออกมาควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

“ตอนนี้เหลือแค่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ ใช้กัญชาอย่างไร เด็กและหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรใช้เพราะจะไปยังบุตรได้” นพ.กิตติกล่าว

ทั้งนี้ นพ.กิตติกล่าวว่า ทุกกรม รวมถึงเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีงานวิจัยของกัญชาอยู่ แต่อาจจะล่าช้าในช่วงโควิด-19 แต่อย่างไรแล้วทางสถาบันกัญชาฯ กำลังรวบรวมข้อมูลงานวิจัยทุกกรม คาดว่าจะเห็นใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งการรวบรวมผลวิจัยดังกล่าวก็จะเป็นข้อมูลที่ชี้ได้ชัดขึ้นว่ากัญชามีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอย่างไรบ้าง

“เราไม่ได้ปลดล็อกกัญชามาเล่นๆ อยู่แล้ว ข้อมูลของกัญชาทางการแพทย์พบว่ามีความต้องการใช้ยากัญชาเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 และปีนี้เราเริ่มฟื้นกับโควิด-19 แล้ว ก็เชื่อว่าจะมีการเข้ายากัญชามากขึ้น เพราะ รพ.ในสังกัดสธ.ก็มีคลินิกกัญชา และจ่ายยาได้หมด รวมถึงมีการจัดมหกรรมกัญชาในแต่ละเขตสุขภาพ ที่มีการให้บริการคลินิกกัญชาด้วย” นพ.กิตติกล่าว 

เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ว่าการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาโรค ผู้ป่วยคิดไปเองว่าใช้แล้วอาการดีขึ้น นพ.กิตติกล่าวว่า ฉะนั้นเราต้องมาพูดกันด้วยงานวิจัย เราไม่ใช่ความรู้สึก อย่างต่างประเทศเขาทำงานวิจัยกัญชามากมาย ส่วนของไทยก็มีกรมการแพทย์ที่ออกมารับรองการใช้กัญชาในหลายกลุ่มโรค ดังนั้นต้องเอางานวิจัยมาตอบกัน ถ้าใช้ความรู้สึกตอบก็ตอบกันไม่จบ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : แพทยสภา ออกประกาศไม่ใช้กัญชาในทางที่ผิด

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org