ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.หารือ กทม. ถกรับมือโควิดพุ่ง! พื้นที่กรุงเทพฯ ด้านรองปลัด กทม. ขอสำรองยาเพิ่มจาก 7 วันไป 10 วัน ทั้งฟาวิฯ และโมลนูพิราเวียร์ ล่าสุดปรับใช้ยาฟาวิฯให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี และใช้ยาโมลนูฯเป็นหลักตามข้อบ่งชี้ ย้ำ! ไม่ใช่ทุกคนต้องได้ยา  ส่วนปลัดสธ. เตรียมมอบ อภ.ผลิตโมลนูฯเองในอนาคต

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรุงเทพมหานคร

ต่อมาเวลา 16.00 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุม ว่า จากการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นโรคเริ่มเบาบางจนปลายมิ.ย. แต่เมื่อต้น ก.ค. ผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะมีสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 ประกอบกับเดือนที่ผ่านมา ศบค.ใหญ่ยกเลิก ศบค.กทม. ทำให้องค์ประกอบ เช่น คณะอนุกรรมการต่างๆ หมดวาระลง แต่เราเห็นว่าปัญหามากกว่าครึ่งหนึ่ง ติดเชื้อเกิดขึ้นใน กทม. แต่ด้วยคำสั่งจะเป็นกทม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยสนับสนุนในการดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม.

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า กทม. กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีรพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ แต่มีของรพ.สังกัดกทม. ซึ่งเราสามารถทำงานร่วมกัน โดยกำลังหลักคือ กทม. รพ.เอกชน และร.ร.แพทย์ จะมาทำงานร่วมกัน โดยจากตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มาหารือเพื่อเตรียมพร้อม โดยเนื้อหาการประชุมเน้นการดูแลผู้ป่วยในกทม. เดิมมีคณะกรรมการร่วมฯ ซึ่งหมดวาระไป เมื่อกทม.เข้ามาดูแล ทางกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งเรื่องการป้องกันโรค เรื่องวัคซีน แม้วัคซีนในกทม. จะฉีดเกิน 100% แต่ปัญหาติดเชื้อยังมีอยู่ รวมไปถึงมาตรการต่างๆควบคุมโรค การจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มีการพูดคุยว่า กทม.จะมีแนวทางอย่างไร รวมไปถึงแนวทางเรื่องเตียง

“สถานการณ์เตียงในกทม. ที่มีการดูข้อมูลร่วมกันกับทางกทม.พบว่า สามารถดูแลได้ โดยผู้ป่วยที่มากจะเป็นผู้ป่วยสีเขียว 98% และผู้ป่วยระดับ 2.2 -2.3 ก็ยังมีเพียงพอ แต่ก็กังวลว่า หากฉุกละหุก โรคติดต่อเพิ่มรวดเร็ว จึงต้องทำแผนร่วมกันกับทางกทม. เป็นแผน 1 และ แผน 2 เป็นต้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการทำงานตรงนี้ ” ปลัดสธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า  นอกจากนี้ กทม.ขอให้สธ.สนับสนุนยาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มีอยู่ 7 วัน หากสธ.มีมากก็ให้ได้มาก แต่หากไม่มากก็ต้องช่วยกันบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพราะยาเข้ามาเป็นชุดๆ ไม่ได้เข้ามาทุกวัน ต้องรอการผลิต แต่จะมีการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งรพ.สังกัดกทม. รพ.เอกชน รพ.ร.ร.แพทย์ ต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ทางองค์การเภสัชกรรมผลิตได้ 2 ล้านเม็ดต่อวัน ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ จะมีการมอบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเองในอนาคต

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า กทม.ตั้งใจจะมาขอบคุณ สธ. ที่สนับสนุนยาเพื่อให้ กทม. แจกจ่ายไปยังผู้ป่วยในเกณฑ์ที่ต้องได้รับยา    การหารือวันนี้ มีประเด็นห่วงใยบางประการ อย่างเตียงเพียงพอหรือไม่ เท่าที่ดูตอนนี้เพียงพอ  แต่ต้องมีการบริหารความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้ไร้รอยต่อ เนื่องจากขณะนี้เราไม่มีศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง เพราะมีคำสั่งยกเลิก จึงจะใช้ศูนย์เอราวัณ ประสาน รพ.หลักๆใน 6 โซน นอกจากนี้   กทม.ได้ให้วัคซีนเกินเข็ม 3 เกิน 80% แต่ด้วยกทม. เป็นศูนย์กลาง จึงมีพี่น้องในต่างจังหวัดเข้ามา เราก็พร้อมให้บริการ

“ขณะนี้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้สั่งการให้มีการเพิ่มเติมการให้บริการบูสเตอร์มากขึ้น และศูนย์บริการสาธารณสุขจะขยายบริการในวันเสาร์เพื่อฉีดวัคซีน และแจกยา  รวมทั้งมีการบริการเชิงรุกในผู้สูงอายุ และติดเตียง โดยมีการประสานนัดหมายฉีดวัคซีนถึงบ้าน ขณะที่ศูนย์วัคซีนกลาง ทั้งบางซื่อ และกีฬาเวสน์ก็ยังมีอยู่” รองปลัด กทม. กล่าว

พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดกิจกรรมของ กทม จะเป็นความเสี่ยงหรือไม่ ต้องเรียนว่าเราดำเนินการตามคำสั่ง ศบค. ฉบับ 46 ที่สามารถปรับมาตรการผ่อนคลายได้ บาลานซ์กิจกรรมเฝ้าระวังคุมเข้มและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งหนังกลางแปลง ดนตรีในสวน จะมีมาตรการระดับหนึ่ง จากการติดตามยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จากกลุ่มนี้ แต่หากมีความเสี่ยง ทางฝ่ายบริหารก็พร้อมปรับลดหรืองดไป อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดกิจกรรมต่างๆนั้น จากนี้ในส่วนของผู้ขายจะมีมาตรการ อาทิ หากไม่มีผลเอทีเค จะให้สว็อป และจะแจกหน้ากากผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น

รองปลัดกทม. กล่าวอีกว่า เรื่องยาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวลว่า เพียงพอหรือไม่ แต่ 2 วันนี้ยามาตามนัดจริงๆ ต้องขอขอบพระคุณ และวันนี้ กทม.มาขอเพิ่ม เพราะเรามีคนไข้เยอะ เป็นไปได้หรือไม่จะสำรองยาได้มากกว่าเดิม และช่วยเหลือข้ามกันระหว่าง รพ. ทั้งหมดนี้หากทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้สะดวก โดยท่านปลัดบอกว่า หากเราให้ รพ.เอกชน ร้านยา มาให้กรณี

“ยามาตามนัด แต่วันนี้ กทม.มาขอเพิ่มในการสำรองยา และช่วยเหลือกันระหว่าง รพ ทั้งหมดนี้ หากช่วยเหลือกันได้ ให้รพ.เอกชน ร้านยา สำหรับคนที่ซัพพอร์ตเรื่องนี้ได้ ก็จะช่วยรักษาและควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินการต่อไปนี้เราจะใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาช่วยดำเนินการ โดยกทม. มีคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน แต่หากไม่เพียงพอ ก็จะมีการเสนอให้เพิ่มคณะกรรมการ 1 ชุด ดูเรื่องการรักษา เรื่องสาธารณสุข ซึ่งจะขอกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเรื่องนี้” พญ.วันทนีย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขอสำรองยาเพิ่มเท่าไหร่ พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า  เดิมสำรอง 7 วัน แต่ขอเพิ่มเป็น 10 วัน โดยตอนนี้เรามีการปรับยาฟาวิฯ ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี และจะให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้น โดยตอนนี้เราจะให้ยาตามข้อบ่งชี้ ตามแนวทางกรมการแพทย์ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ยา ทั้งนี้ การให้ยาในส่วนกทม.  ที่ผ่านมาจ่ายยาวันละ 1 แสนเม็ด

ส่วนการเตรียมพร้อมอย่าง รพ.สนาม หรือ Community Isolation นั้น ทางกทม.พร้อมจะเปิด แต่รพ.สนามยังมีอยู่ โดย CI  มีการเตรียมไว้ประมาณ 5 แห่ง  320 เตียง แต่รพ.สนามยังเหลืออยู่ และคนกรุงเทพฯไม่นิยมพักรพ.สนาม แต่ดีตรงโควิดตอนนี้ส่วนใหญ่อาการไม่มาก เป็นกลุ่มสีเขียว  

เมื่อถามว่า จะมีลิมิตอย่างไรที่ต้องขยายเตียง รองปลัดกทม. กล่าวว่า จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักการแพทย์ และกรมการแพทย์  โดยเราเน้นเตียงงแดงเหลือง เช่น 80% ครองเตียง 2-3 วัน จะขยายวอร์ด ขยายเตียงบางแห่ง แต่รายละเอียดต้องมีการหารืออีกครั้ง

ด้าน นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า  อยากขอความร่วมมือประชาชน หากติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย และต้องการยาให้ติดต่อรพ.ใกล้บ้านตามสิทธิ์ ซึ่งสามารถติดต่อโดยตรง หรือดาวน์โหลดแอปฯของแต่ละรพ. หรือประชาชนมีอาการมากขึ้น ให้ไปรพ. จะตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ส่วนหากฉุกเฉินสีแดงให้ประสานศูนย์เอราวัณตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วน 1669  ก็จะส่งทีมไปประเมินอาการ

“กรณีรพ.เอกชน ทางศูนย์เอราวัณได้ประสานทำงานมาตั้งแต่เดลต้าระบาด หลักๆ ถ้าเป็นสีแดง รพ.เอกชน สามารถรับได้อยู่แล้วเพราะเข้าข่ายยูเซป  แต่หลักๆ เราจะบริหารจาก รพ.รัฐก่อน หากไม่พอก็ต้องขอความร่วมมือเอกชน ซึ่งเชื่อว่าประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกันไม่เป็นอุปสรรค โดยอัตราการครองเตียงกลุ่มอาการสีเหลืองอยู่ที่ 47.8%” นพ.สุขสันต์ กล่าว