ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แถลงกรณีหนังสือด่วนที่สุดถึงสตช. ดำเนินคดีผู้ไม่ขออนุญาต หรือจำหน่ายกัญชา ชี้นำกลับมาทบทวนใหม่ ยังไม่จับกุม 4 กรณี ลั่นเตรียมพร้อมระบบรองรับหาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...ที่อยู่ในสภาลากยาวอีกเดือน สองเดือน

 

 

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินคดีกับผู้ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ใน 4 กรณี คือ 1.ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชา 2.ไม่ขออนุญาตส่งออกกัญชา 3.ไม่ขออนุญาตจำหน่ายกัญชา และ 4.ไม่ขออนุญาตแปรรูปกัญชาเพื่อการค้า  

 

ล่าสุด เวลา 17.00 น. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวภายหลังการประชุมหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม 1 ชั่วโมง ว่า นัยยะของหนังสือดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร จากการตรวจสอบหนังสือแล้ว ปรึกษากับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้มีสรุปให้สั่งการอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ทบทวนรายละเอียดเพื่อเสนอต่อไป ทั้งนี้ ได้นำหนังสือดังกล่าวกลับมาทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสุงสุด

 

ด้าน นพ.ยงยศ กล่าวว่า หนังสือที่ส่งไปมีความชัดเจนว่า ทางตำรวจจะต้องไปดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ซึ่งจะเป็น นพ.สสจ. และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ และผู้ทรงคุณวุฒิของกรมอีกราว 10 คน ฉะนั้น นัยยะการสื่อสารมีความชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรอการประสานจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการจำหน่ายกัญชาที่เป็นสิ่งของเฉพาะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ตัวกฎหมายจึงออกแบบมาว่าจะต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญระบุว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้ดุลยพินิจส่วนนี้ไม่ครบถ้วนทางกฎหมาย ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องได้รับการประสานร้องขอ

นพง.ยงยศ กล่าวกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนด้านการควบคุมพืชกัญชาว่า วันนี้มีการประชุมอนุกรรมการด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ที่มีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กรมป่าไม้ ร่วมให้ความเห็น ซึ่งมีความเห็นว่า เพื่อความสมบูรณ์ในการประกาศสมุนไพรควบคุม(กัญชา) อาจต้องปรับปรุงประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้ชัดเจน 4 เรื่อง คือ 1.ประชาชนที่ใช้กัญชาดูแลสุขภาพต้องไม่ได้รับผลกระทบ 2.ไม่มีผลทางกฎหมายกับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีประกาศฉบับดังกล่าว 3.ความชัดเจนของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และไม่มีความผิด และ 4.กัญชาเป็นพืชที่มีความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและคุณค่าทางการแพทย์ การเปิดโอกาสให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม ถูกด้อยค่า ไม่ควรเกิดขึ้น ฉะนั้น ทางอนุกรรมการฯ เห็นเบื้องต้นว่า ควรปรับปรุงประกาศสธ.เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ให้ชัดเจน โดยประเด็นหลักเช่น ประกาศให้เฉพาะช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาด้วยส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอก จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ประกาศจะเป็นตามขั้นตอนคือส่งให้ปลัดสธ. และรมว.สาธารณสุข ลงนามเพื่อประกาศใช้ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า

 

“การที่จะดำเนินการให้เกิดทางปฏิบัติ ความชัดเจนของสธ.และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องคุยชี้แจงกับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะ นพ.สสจ. ที่เป็นตัวแทนผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา พ.ศ.2542 ส่วนข้อกังวลว่าจะมีการบังคับใช้ จับกุม ขอยืนยันว่าน่าจะยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นผู้ที่วางพันลำขายข้างถนน การผลิตเพื่อให้เสพโดยการสูบ ซึ่งเราชัดเจนว่าเราพยายามขีดวงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการให้มากที่สุด” นพ.ยงยศกล่าว

 

เมื่อถามว่าการทบทวนประกาศสมุนไพรควบคุม จะเหลือเพียงการควบคุมช่อดอกกัญชา นพ.ยงยศกล่าวว่า ใช่ เพราะหากเราประกาศทั้งต้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะประชาชนที่ลงทะเบียน ‘ปลูกกัญ’ เป็นล้านคนๆ อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดปริมาณช่อดอกที่เหมาะสมในการครอบครัวของแต่ละครัวเรือนเพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เช่น ปลูกไว้ 10-20 ต้น แล้วมีช่อดอกได้ 300-500 กรัมแห้ง นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ยังไม่ใช่ตัวเลขในการกำหนดปริมาณ แต่หากเป็นการใช้ในครัวเรือน ไม่ได้จำหน่ายก็ไม่ต้องขออนุญาต

 

เมื่อถามว่าระหว่างที่ประกาศปรับปรุงยังไม่ออก ประชาชนจะใช้กัญชาอย่างไร จะต้องใช้ตามประกาศเดิมหรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า เรามุ่งเน้นการควบคุมเสพสูบกัญชา ส่วนเรื่องของการจับกุม เราจะเน้นการกวดขันการแปรรูปกัญชาเพื่อเสพ โดยการตักเตือนเฝ้าระวัง

 

เมื่อถามต่อว่าประกาศปรับปรุงเป็นการควบคุมเฉพาะช่อดอก แล้วผู้ประกอบการจะนำมาจำหน่ายได้หรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า สำหรับช่อดอกที่ปริมาณมากวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย ต้องขออนุญาตตามขั้นตอน โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีคุณสมบัติที่กำหนด โดยเป็นรายละเอียดที่ต้องหารือกัน ซึ่งจะมีการออกแบบการขออนุญาตให้สะดวกกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ เราจะเปิดฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้ได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า

 

“เราได้คิดเผื่อไว้ว่าหาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่อยู่ในสภาลากยาวอีกเดือน สองเดือนเราจะบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ผู้ประกอบการอย่างไร เราคิดเผื่อไว้เป็นระบบออนไลน์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศปรับปรุงจะออกมา” นพ.ยงยศกล่าว