ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักกันดีในระดับโลก ล่าสุดหาดซันไรซ์ แห่งเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ติดอันดับชายหาดสวยซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วโลกประทับใจ ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะแห่งนี้หลายแสนคน แต่สำหรับระบบสาธารณสุขของเกาะหลีเป๊ะ ยังคงมีเพียงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.)เพียงแห่งเดียว ไม่อ่าจรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

ล่าสุดเกิดโครงการ “แพทย์อาสาหมุนเวียน รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพ.ค.2565 ที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงตอบรับที่ดีมาก

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับ พงษ์ธร แก้วผนึก ผู้อำนวยการ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ เพื่อเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ และการยกระดับขีดความสามารถในอนาคต

 

*โครงการแพทย์อาสาคืออะไร

เกาะหลีเป๊ะ ต.สาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เป็นพื้นที่ห่างไกลทางทะเล ห่างจากฝั่งประมาณ 70 กม. มีประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านพื้นถิ่น (อุลักลาโว้ย) ประมาณกว่า 1,000 คน โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการดูแลทางการแพทย์ มีเพียงเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่กี่คน

อย่างไรก็ตาม หลายปีมานี้การท่องเที่ยวบนเกาะเติบโตขึ้น ทำให้มีประชากรแฝนจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการแรงงานกว่า 3,000 คนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับบริการปีหนึ่งหลายแสนคน ขณะที่รพ.สต.ไม่มีแพทย์คอยให้บริการ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

(พงษ์ธร แก้วผนึก)

ผอ.พงษ์ธร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีแนวคิดเกี่ยวกับโครงการแพทย์อาสามา 4-5 ปีแล้วแต่ด้วยหลายปัจจัยจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งปีนี้ทุกอย่างลงตัว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ รีสอร์ตทุกแห่งบนเกาะ ประมาณ 20-30 รีสอร์ต ในการเปิดรับแพทย์อาสาเข้ามาในพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

เงื่อนไขดังกล่าวคือเป็นแพทย์จากภาครัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดมหาวิทยาลัย มาให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เงินเดือนหรือค่าเวรใด แต่ทางรพ.สต.เกาะหลีเป๊ะร่วมกับผู้ประกอบการ จะช่วยเรื่องที่พัก ค่าอาหาร การเดินทางฟรี ตั้งแต่ท่าเรือมาถึงรพ.สต.เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว ทั้งการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาและให้คำปรึกษาผู้ป่วย โดยไม่ถือเป็นวันลา มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานรอบละ 4 วัน (4 วัน 3 คืน) ต่อรุ่น รุ่นละ 1 คน และสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกิน 2 รอบใน 1 เดือน

*ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่

“โครงการเริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ค. ผลตอบรับดีมากทั้งชาวบ้าน ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเองก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในส่วนของคุณหมอก็สมัครกันเข้ามาเยอะมากจนล้นไปถึงเดือนก.ย.แล้ว มีทั้งแพทย์จบใหม่และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง กลายเป็นตอนนี้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศหมุนเวียนกันมาอยู่ที่รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ ขณะที่รพ.ขนาดใหญ่กว่าบางที่ยังไม่มี” ผอ.รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ กล่าว

แพทย์อาสาที่มายังเกาะหลีเป๊ะ บ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตา บ้างเชี่ยวชาญด้านกระดูก หรือหัวใจก็มี กลายเป็นความโชคดีของคนในพื้นที่จากที่เคยต้องข้ามมารักษาตัวบนฝั่งหรือบางคนไม่ได้รับการรักษาเพราะไม่สะดวกในการเดินทาง ก็สามารถเข้าถึงการบริการและรับการรักษาได้ทันท่วงทีในบางกรณีเร่งด่วน

นายพงษ์ธร ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เคยมีเคสผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยได้ หรือเคสอื่นๆ ที่จำเป็นต้องส่งต่อ เนื่องจากหัตถการบางอย่างที่ใช้แพทย์เป็นหลักเนื่องด้วยข้อกำหนดด้านกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยอุปสรรคของพื้นที่ทำให้บางครั้งการส่งต่อบางครั้งก็มีความไม่สะดวกและอาจไม่ทันท่วงที แต่หลังจากมีโครงการแพทย์อาสาช่วยได้มาก ทั้งการวินิจฉัย ดูแลรักษาเบื้องต้น ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคเฉพาะ ตลอดจนช่วยลดการส่งต่อผู้ป่วย

“รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะอาจจะไม่ใช่โรงพยาบาลแต่มีศักยภาพคล้ายกับรพ.ชุมชน มียาและอุปกรณ์สำคัญ เช่น เครื่องตรวจ CBC (การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) และ EKG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ)  ที่รพ.สต.ทั่วประเทศไม่มีแต่ที่นี่มี รวมทั้งเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) เมื่อได้บุคคลากรทางการแพทย์มาประจำก็สามารถเพิ่มศักยภาพได้มากขึ้น”

*วางเป้าพัฒนาขีดความสามารถต่อเนื่อง

นอกจากโครงการแพทย์อาสาแล้ว ไม่นานมานี้ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณ 80.75 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเกาะหลีเป๊ะ โดยการปรับปรุงอาคารของรพ.สต.เกาะหลีเป๊ะให้สามารถรองรองรับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ยิ่งส่งเสริมโครงการแพทย์อาสาหมุนเวียนที่เข้ามาประจำในพื้นที่ ตามแนวทางเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการด้านสุขภาพ

ผอ.พงษ์ธร เผยว่า งบประมาณดังกล่าวหลักๆ จะนำมาพัฒนาเพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพทั้งเรื่องพื้นที่ และอุปกรณ์ จากเดิมที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 3 เตียง และมีห้องวินิจฉัยโรคเพียงห้องเดียว รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะหลังใหม่จะขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 10 เตียง มีห้องตรวจ 2 ห้อง มีห้องเจาะเลือด ห้องเอ็กซเรย์ ห้องฉุกเฉินและห้องคลอดที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น รวมทั้งบริการอื่นๆ และเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนรพ.ชุมชน และมีกำลังพลสนับสนุนจากจังหวัดเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นสัดส่วนที่เป็นรูปธรรมนัก เป็นเนื้อที่แคบๆ ตามรูปแบบของรพ.สต. แต่ด้วยการท่องเที่ยวมันเติบโตแบบก้าวกระโดดจนไม่สามารถรองรับการใช้บริการได้ จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และเหมาะสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการเดินทางไปรักษานอกพื้นที่ได้อย่างมาก”

* สร้างความเชื่อมั่นหนุนการท่องเที่ยว

นายพงษ์ธร เชื่อว่าทั้งโครงการแพทย์อาสาและการได้รับงบประมาณจากครม.เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมบนเกาะไม่เพียงยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ แต่ยังช่วยสร้างความความเชื่อมั่นและยกระดับรพ.สต.เกาะหลีเป๊ะให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวหลังโควิด-19

“นอกจากธรรมชาติที่สวยงาม โรงแรมที่พักที่ดีอยู่แล้ว หากเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการบริการทางการแพทย์บนเกาะได้มากขึ้น ก็ยิ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นและสร้างรายได้เข้าจังหวัดและประเทศมากขึ้นไปด้วย เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมากจากอุบัติเหตุต่างๆ” ผอ.กล่าว

ทั้งนี้การส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลสตูล จะใช้เรือเป็นหลักแต่ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องเรือของเอกชนที่ให้บริการและสภาพอากาศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมีการสนับสนุนการส่งต่อทางอากาศยาน โดยเจ้าหน้าที่รพ.สต.ได้ผ่านการอบรมหลักสูตร ACAT ( Advance Care Air Transport) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักหรือเคสเร่งด่วน

นายพงษ์ธร ยืนยันว่าโครงการแพทย์อาสาจะดำเนินการไปเรื่อยๆ เพราะเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อประชาชนและคนทั่วโลกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นอย่างที่บอกไป และในอนาคตอาจจะนำไปสู่การพัฒนาให้มีแพทย์ประจำถาวร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูเรื่องงบประมาณว่าสามารถจัดสรรแพทย์มาประจำอยู่ได้หรือไม่เพราะการให้แพทย์มาอยู่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอนาคตมีแน่ เหมือนกับเกาะอื่นๆ เช่นเกาะเต่า เกาะพีพี ที่เคยเป็นรพ.สต.มาก่อน

*ยังไม่พร้อมถ่ายโอนไปท้องถิ่น

ผอ.รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ ยังกล่าวถึงการถ่ายโอนรพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไปว่า หากโอนย้ายแล้วมีการพัฒนาขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละที่ว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน เพราะหากไปแล้วไม่มีความพร้อมก็จะกลับมายังจุดเดิมหรือแย่กว่าเดิม ต้องให้เป็นการตัดสินจของเจ้าหน้าที่หรือผอ.รพ.สต.ในพื้นที่พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย

“ สำหรับรพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ หากต้องย้ายไปอยู่กับอบจ. คาดว่าการติดต่อราชการจะยุ่งยากมากและยังไม่มีพร้อม ทั้งด้วยหลักทางกายภาพและความพร้อมของอบจ.ในการรับดูแล เพราะรพ.สต.เกาะหลีเป๊ะไม่ได้ดูแลเฉพาะคนในพื้นที่ แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องดูแลนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศด้วย ต้องมีความพร้อมและคล่องตัวพอสมควร” นายพงษ์ธร กล่าวพร้อมเสริมว่าหากในอนาคตอบจ.มีความพร้อมและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี