ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคมที่ผ่านมา รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค(สอบ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาสอบ. ได้มีข้อเสนอนโยบายให้ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนนโยบายและมาตรการที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 3 ประเด็นเร่งด่วนคือ  1.ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ประสาน สอบ. พร้อมทั้งสื่อสารให้องค์กรเครือข่ายมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ CPTPP เพื่อหารือก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม 2.เรียกร้องให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส นำระบบตั๋วเดือนกลับมาใช้ และจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาบริการและค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชะลอการต่ออายุสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว 3.ค่ารักษาพยาบาลแพงของบริการสาธารณสุขเอกชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-1  ส่งผลให้สำนักงานประกันสังคมปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลผู้ประกันตนที่ป่วยให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

ผลงานของสอบ.เรื่องต่อมาคือ  การคุ้มครองผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยบูรณาการความรู้ เทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายตั้งแต่ขั้นตอนของการเฝ้าระวังปัญหา การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และการพัฒนานโยบาย มีผลงานที่สร้างผลกระทบสูงในปี 2564 เช่น  ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพหน้ากากอนามัย 60 ยี่ห้อ โดยผลักดันจนเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 12 จังหวัด 7 ภูมิภาค และ เป็นตัวแทนผู้บริโภคดำเนินการร้องเรียนเรื่องการยกเลิกประกันโควิดโดยไม่เป็นธรรมมากกว่า 1,000 ราย จนได้รับเงินประกันตามสิทธิ

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นกลไกนวัตกรรมงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ช่วยลดภาระให้กับผู้บริโภคจากการเสียเวลาค้นหา เดินทาง หรือติดตามเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์กับหน่วยงานหลายแห่ง โดยมีวิธีดำเนินการต่อข้อร้องเรียน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ (1) ขั้นเจรจาประสานงานกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) ขั้นไกล่เกลี่ย และ (3) ขั้นฟ้องคดี มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค 1,371 กรณี สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเรื่องทั้งหมด

สำหรับการพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิบัติภารกิจของสอบ. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้มีการจัดทำข้อบังคับของ สอบ. เลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของ สอบ. จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจ และเป็นตัวแทนผู้บริโภคดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน ขณะเดียวกันได้สนับสนุนให้เกิดหน่วยงานประจำจังหวัด ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของ สอบ. ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วเท่าทันสถานการณ์และทันความต้องการ ปัจจุบันมีหน่วยงานประจำจังหวัด 12 แห่ง ดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคใน 8 ประเด็น ได้รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือผู้บริโภค 712 ราย สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้ประมาณร้อยละ 80 รวมทั้งพัฒนาองค์กรผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดให้มีความสามารถในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้กับสมาชิกในกลุ่ม มีการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภคผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย และจัดการประชุมสภาผู้บริโภคระดับจังหวัดอย่างน้อย 7 จังหวัด

 

ภาพ : www.tcc.or.th