ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ยืนยันมียารักษาโควิดทุกขนาน แต่ต้องอยู่ที่แพทย์วินิจฉัย ส่วนซื้อขายออนไลน์ เสี่ยงหลอกลวง ขณะที่กรมควบคุมโรคยืนยัน การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ต้องอยู่ดุลพินิจแพทย์ เผยขณะนี้มีปรากฎการณ์รีบาวด์ (Rebound) เกิดกับประธานาธิบดี “โจ ไบเดน”  ติดโควิดได้รับยาแพกซ์โลวิด พบอาการเหมือนจะหาย แต่กลับพบเชื้อเพิ่ม! ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามรายละเอียด

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการซื้อยาต้านไวรัส อย่างยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิดกันเอง ว่า  ยาในตระกูลโมลนูพิราเวียร์ เป็นการนำเข้าโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งตนได้สอบถามกับเลขาธิการอย. ได้รับคำยืนยันว่า หากนำมาขึ้นทะเบียนถูกต้อง ทางอย.ก็พร้อมออกทะเบียนให้ พร้อมถามถึงข้อจำกัดขายในประชาชนทั่วไป ก็ได้คำยืนยันว่า เนื่องจากเป็นยาที่ควบคุมพิเศษใช้ในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น การจ่ายยาจะต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนเรื่องซื้อขายทั่วไป จะขึ้นอยู่กับผู้ขาย แต่คนที่จะซื้อต้องมีใบรับรองแพทย์

 

“รัฐบาลยืนยันว่ายาที่จะใช้รักษาโควิด-19 ทุกขนาน ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ยังคุ้มครองอยู่ การใช้ยาโดยแพทย์ต้องมีดุลยพินิจ การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับยา เช่น โมลนูพิราเวียร์ ถ้ามองอีกแง่คือ ผู้ป่วยอาการไม่ถึงขั้นให้ยา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ว่าผู้ป่วยสุขภาพดี แข็งแรงไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าไวรัส ขอให้เชื่อในดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะปลอดภัย อย่าไปซื้อยาเองเด็ดขาด เพราะผู้ขายก็ผิดกฎหมายได้ ยกเว้นมีใบสั่งแพทย์ โดยเฉพาะการหาซื้อเอง ก็ไม่รู้ว่าจะได้ยาอะไร นำเข้ามาอย่างไร” นายอนุทินกล่าว

 

เมื่อถามว่ากรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กโพสต์ขายยาโมลนูพิราเวียร์คอร์สละ 1,500-2,500 บาท นายอนุทินกล่าวว่า ทางอย.ดำเนินการอยู่ การนำเข้ามาขายเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เพียงโฆษณาอย่างเดียว ยังถือเป็นการหลอกลวง ขนาดร้านยายังขายไม่ได้เลย การนำมาขายออนไลน์แบบนี้ ยิ่งอันตราย

 วันเดียวกัน ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ตอบคำถามสื่อถึงกรณีผู้ป่วยโควิด-19 บางรายที่อาการน้อย แต่อยากได้รับยาต้านไวรัส ว่า สำหรับยาต้านไวรัสเป็นวิธีหนึ่งในการรักษา แต่คนที่แข็งแรง รับวัคซีนครบส่วนใหญ่อาการน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส วิธีรักษาจะอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และย้ำว่ายาต้านไวรัสเป็นสารเคมีที่ผลดี และผลเสีย หากใช้ไม่ถูกก็เกิดผลเสียระยะยาวได้

 

“ขณะนี้เราเจอปรากฎการณ์ใหม่ คือ การรีบาวด์ (Rebound) ตามข่าวที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ติดโควิดได้รับยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด แล้วเหมือนจะหายดี แต่ก็กลับมาเป็นไข้ใหม่ได้ แล้วพบเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เราเพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการรีบาวด์การเกิดเชื้อ สมมติฐานว่าอาจเกิดจากการที่รับยาต้านไวรัส แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อในร่างกายให้หมดไป พอหยุดยาไป เชื้อก็กลับแบ่งตัวขึ้นใหม่ แต่รายละเอียดต้องติดตามต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวย้ำว่า การให้ยาต้านไวรัสที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะกับคน แทนที่จะให้ข้อดี แต่ให้ข้อเสียในเรื่องการดื้อยา ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ฉะนั้น การพิจารณาเลือกยาขอให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องกินยาทุกคน