ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทศบาลตำบลธารเกษม จ.สระบุรี ทำโครงการ ‘ชะลอไตเสื่อม’ ด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ช่วยลด ‘ค่าการทำงานของไต’ ของผู้ป่วยลงได้กว่า 50% ด้าน “นพ.จเด็จ” เผยวางเป้าผู้ป่วยล้างไตใหม่ต่ำกว่าหมื่นคน/ปี ถือว่าสำเร็จ ชี้ลงทุนส่งเสริมป้องกัน คุ้มค่ากว่าการนำผู้ป่วยมารักษาในระยะยาว 

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.อภิชาติรอดสม รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “กปท. (เทศบาลตำบล) ธารเกษมเชิงรุกลดความเสี่ยงชะลอไตเสื่อม : โครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง” ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ธารเกษม ร่วมกับ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ และ โรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณจาก กปท. หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับ สปสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ โดยปัจจุบันเทศบาลตำบลธารเกษมมีผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายที่มีโรคเบาหวานและความดันโลหิตควบคู่ด้วยจำนวนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องได้รับการ “ชะลอความเสื่อมของไต” เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายทศวรรษของการชะลอโรคไต ซึ่งเป็นการวางเป้าหมายให้ลดผู้ป่วยโรคไตให้ได้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. จึงมีมติให้สร้างกลไกในการส่งเสริมป้องกันโรคไต ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับ สปสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ และปี 2565 ถือเป็นปีแรกที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้มีบทบาทในการลดผู้ป่วยโรคไต 

ทั้งนี้ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคไตให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไตจะเสื่อม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเป็นเวลานาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ สามารถดูแลตนเองได้ ลดพฤติกรรมเสี่ยง การเฝ้าระวังการใช้สมุนไพร ยา อาหาร และส่งเสริมการออกกำลังกาย การรณรงค์สื่อสารด้านสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไตเสื่อมที่เข้าสู่ระดับ 5 ลดลง 

“จุดเด่นของ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ คือการคิดยุทธวิธี การออกแบบกิจกรรม และผนึกกำลังการทำงานเพื่อชะลอผู้ป่วยโรคไตในพื้นที่ร่วมกับท้องถิ่น พร้อมทั้งใช้ความเข้มแข็งของอสม. ในการติดตามผู้ป่วยอย่างเป็นระยะ เพื่อปรับกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคไต ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ดีขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของโรคไตในปัจจุบันอีกว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเบาหวาน และความดันโลหิตสูง อีกทั้ง จากข้อมูลทำให้ทราบว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ได้รับการรักษา ได้ความรู้ถึงพฤติกรรมการบริโภค ก็จะช่วยให้ชะลอการรักษาที่ต้องล้างไตออกไปได้ และงบประมาณสำหรับการทำให้คนไข้เข้าสู่การล้างไตลดลง จะคุ้มค่ากว่าการลงทุนในงบประมาณเพื่อนำคนไข้ไปล้างไต

นายเฉลิมพงษ์ นามสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตรีบุญโสภณ (รพ.สต.ตรีบุญโสภณ) กล่าวว่า พื้นที่เทศบาลตำบลธารเกษม อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยการดูแลของ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ มีอัตราผู้ป่วยโรค NCDs จำนวน 442 ราย แบ่งออกเป็น 1. โรคเบาหวาน 174 ราย รักษาที่ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ 68 ราย คิดเป็นร้อยละ 39.08 2. โรคความดันโลหิตสูง 268 ราย รักษาที่ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.83 และ 3. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง จำนวน 225 ราย รักษาที่ รพ.สต. ตรีบุญโสภณ 223 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.45 และฟอกเลือดที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท 2 ราย 

นายเฉลิมพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยจำนวน 223 ราย ที่รักษาอยู่ที่คลินิกโรคเรื้อรัง รพ.สต.ตรีบุญโสภณ จะได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง ใน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. การดูแลตนเอง การลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะทางไต 2. การสาธิตการประกอบอาหารที่มีรสจืด ใส่เครื่องปรุงรสน้อยลง 3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง “กราฟชีวิตพิชิตโรค”

“ผลการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูงที่ผ่านมา จากข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มค่าการทำงานของไตดีขึ้นถึง ร้อยละ 51.12” นายเฉลิมพงษ์ กล่าว

ด้าน น.ส.ดวงพร รุ่งเรือง นายกเทศมนตรีตำบลธารเกษม กล่าวว่า ได้นำงบประมาณของเทศบาลมาสนับสนุนสมทบกับกับ สปสช. เพื่อร่วมผลักดันให้กิจกรรมชะลอโรคไตเสื่อมได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการเจ็บป่วยจากโรคไตเสื่อมที่เป็นปัญหาสุขภาพหลักของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในพื้นที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ผู้ป่วย เนื่องจากมีความแข็งขันของอสม. และเจ้าหน้าที่รพ.สต.ตรีบุญโสภณ ที่ให้ความรู้ด้านการปรับพฤติกรรมการการกินอาหาร ที่ต้องลดเค็ม กินจืด และคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยโรคไตลดขั้นตอนการไปรักษาล้างไตที่โรงพยาบาลเนื่องจากค่าการทำงานของไตดีขึ้นผ่านกิจกรรมที่บูรณาการในพื้นที่ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand