ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่บุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สร้างความตระหนัก รับรู้ และเข้าใจการบริหารจัดการเงิน และภัยทางการเงินในยุคดิจิทัล จนเกิดการนำไปใช้ และบอกต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพทางการเงินของชาวชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. น.ส.วชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.นวพร มหารักขกะผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธปท.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินระหว่างกรม สบส. และ ธปท.

นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การด้านสุขภาพที่ทั่วโลกเผชิญในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งโรคฝีดาษลิง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพทางการเงินของทุกกลุ่มอาชีพ อีกทั้ง ในปัจจุบันยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) และอาชญากรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ กรม สบส. และ ธปท.ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางการเงิน การบริหารจัดการ และการออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินให้กับประชาชน จึงร่วมกันจัดทำ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และธนาคารแห่งประเทศไทย” ขึ้น

ด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ให้เกิดความตระหนัก และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเงินส่วนบุคคล อันเป็นทักษะที่มีความสำคัญ ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั้งในเขตเมืองและชนบทมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาเนื้อหาความรู้ทางการเงิน เครื่องมือในการสื่อสารและกิจกรรมสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในสังกัด ทั้งบุคลกรกรม สบส. และ อสม.ทั่วประเทศ

โดยนำเนื้อหาความรู้ทางการเงินเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ที่แต่ละองค์กรมีเครือข่ายสัมพันธ์ อาทิ แอปพลิเคชั่น SMART อสม. กลุ่มไลน์ (LINE) ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัด ให้ พี่น้อง อสม.ได้เรียนรู้ จนเกิดความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก ในการบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมทั้งการออม การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การจัดการหนี้  การวางแผนทางการเงิน รวมถึงการรู้เท่าทันภัยทางการเงินในยุคดิจิทัล ซึ่งความรู้เหล่านี้นอกจาก อสม.จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถนำไปถ่ายทอด บอกต่อให้แก่ ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และประชาชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนในชุมชนเกิดภูมิคุ้มกันทางการเงิน ยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพทางการเงินให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน