ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์  ยืนยันรักษาโควิด19 ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เหตุงานวิจัยการใช้ยาโมลนูฯ-แพกซ์โลวิด ต้องเริ่มมีอาการและมีปัจจัยเสี่ยง ขณะเดียวกันยังมีภาวะรีบาวด์อีก ส่วนรองปลัดสธ. -อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันการให้รพ.จัดซื้อยาเองไม่ใช่ใครเรียกร้องแล้วได้ แต่มีการวางแผนทำตามขั้นตอนอยู่แล้ว

 

จากกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้โรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เองตั้งแต่วันที่  1 ก.ย. 2565   ปรากฎว่า มีความเข้าใจผิดในบางส่วนว่า การให้รพ.ทุกแห่งซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เอง ทำให้แพทย์สามารถจ่ายยาได้ โดยอาจไม่ต้องคำนึงตามข้อบ่งชี้ เพราะหากรักษาในรพ.รัฐก็จะไม่ได้ยา แต่หมออาจต้องการให้ยานอกเหนือจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็เป็นได้นั้น  

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โดยหลักการการรักษาโรคจำเป็นต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง เป็นโรคเบาหวานก็ต้องให้ยารักษาเบาหวาน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เช่นเดียวกับโรคโควิด19 ก็ต้องรักษาตามแนวทางปฏิบัติตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เช่นกัน  ที่สำคัญกรณียาต้านไวรัส ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด ตอนที่มีการทำวิจัยได้ทำในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ และมีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น อยู่ๆ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงแล้วให้ยากลุ่มนี้ ก็มีคำถามว่า ผู้วิจัยไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยแบบนั้น เราจะทำนอกเหนือจากนั้นหรืออย่างไร

“ที่สำคัญขณะนี้เริ่มมีภาวะรีบาวด์ (Rebound) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หายจากโควิดแล้วกลับมาบวกใหม่ แม้กินยาต้านไวรัส ประกอบกับทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด มีการประกาศให้เป็นยาที่ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งประกาศมาไม่ถึงปี เราก็ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงด้วย ดังนั้น การใช้ยาก็ควรต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแพทย์จ่ายยาต้านไวรัสรักษาโควิดโดยไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ ถือว่าผิดหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากแพทย์จ่ายยาไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เรียกว่าจ่ายตามใจหมอ หรือตามใจผู้ป่วย หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ผู้ป่วยอาจฟ้องร้องได้ ทางที่ดีที่สุดควรต้องจ่ายยาตามอาการ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญมีคณะกรรมการพิจารณาออกมาแล้วดีที่สุด  อย่างไรก็ตาม แนวทางเวชปฏิบัติฯ หรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนตามข้อมูลที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการและติดตามเรื่องนี้

 

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา สธ.เป็นผู้จัดซื้อยาและกระจายไปยัง รพ.ต่างๆ ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน แต่ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่กับเรามา 2 ปีก็เปลี่ยนแปลงไป ทาง สธ.ก็จะปรับบทบาท จึงมีการทำหนังสือแจ้งไปให้ยัง รพ.ต่างๆ รวมถึงคลินิก สามารถซื้อยาได้เองผ่านการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละหน่วย ดังนั้น จึงมีการทำหนังสือด่วนที่สุดเพื่อแจ้งกับรพ.แต่ละแห่งให้เตรียมตัวจัดซื้อยาเอง พร้อมแจ้งว่ามีบริษัทใดบ้างที่ได้รับอนุญาตนำเข้า เพื่อให้ รพ.ไปติดต่อ เนื่องจากการจัดซื้อจะต้องมีการวางแผนจัดซื้อ มีขั้นตอนตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่ามีหลายกระแสบอกว่า สธ.เพิ่งจะประกาศเพราะเกิดจากการกระทุ้งของนักวิชาการบางคน นพ.ธงชัยกล่าวว่า ประเด็นหลักคือ 1 ก.ย. เราจะให้รพ.แต่ละแห่งบริหารจัดการงบประมาณเอง การดำเนินงานตามขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีใครกระทุ้ง เพราะบริษัทยาก็ขออนุญาตอย.นำเข้ามานานแล้ว เพียงแต่หลายคนไม่ได้จัดซื้อยาเองเพราะทาง สธ.จัดสรรยาให้ทั้ง รพ.รัฐ เอกชน สังกัดตำรวจ ทหาร กรุงเทพมหานคร ฉะนั้นเมื่อเข้าระบบปกติ ยาต้านไวรัสโควิดจะเป็นยาตัวหนึ่งในรพ.ที่มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักวิชาการ และเอ็นจีโอ ออกมาระบุสธ.เปลี่ยนแปลงบริหารจัดการยาใหม่ทุกสถานพยาบาลจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เองนั้น ว่า เรื่องนี้ เป็นการดำเนินการที่ได้เตรียมการไว้มากกว่า 3-4 เดือน ไม่ใช่ว่าใครมาเรียกร้องแล้วก็เปลี่ยนแปลงทันที การให้สถานพยาบาลจัดซื้อยาเองนั้น ก็เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างกทม. ที่ไม่มีรพ.สต. สถานพยาบาลที่จะเข้าใกล้ผู้ป่วยมากที่สุดได้กลับเป็นคลินิก และรพ.เอกชน ผิดกับต่างจังหวัดที่ไม่มีปัญหาเรื่องยา  เพราะมีรพ.สต. โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อยานี้ครอบคลุมในทุกสถานพยาบาลทุกสังกัด รวมถึงคลินิก ด้วย  เริ่ม 1 กันยายนนี้ ทั้งนี้เนื่องจากยาต้านไวรัส ทุกชนิด เป็นยาอันตราย และอยู่ในยาควบคุม ต้องสั่งโดยแพทย์

“จะเห็นได้ว่าในประเทศที่เจริญแล้วไม่มีใครเค้าซื้อขายยาปฎิชีวนะในร้านขายยา ในสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มี การจะซื้อยาได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ ดังนั้น การจ่ายยาต้องทำโดยแพทย์ ร้ายขายยามีแค่เภสัชกร  การที่เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น รัฐเข้าดำเนินการซื้อยาและกระจายเองก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะคนที่กำลังทรัพย์น้อยจะได้เข้าถึงยา   ทั้งนี้ การกระจายยาในลักษณะนี้ก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีการกระจายทามิฟูล ที่ก็ให้ทุกสถานพยาบาล และคลินิกยกเว้นร้านขายา” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org