ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยทางออกกรณี กมธ.สาธารณสุข ห่วงรพ.สต.เป็น PCC ถ่ายโอนไปท้องถิ่นจะขาดแพทย์ให้บริการ ชี้ อบจ.ทำเรื่องขอความร่วมมือกระทรวงฯ ขอหมอบริการปชช. ได้   พร้อมมอบ นพ.สสจ. ซักซ้อมให้ข้อมูล อบจ. จัดระบบข้อมูลตั้งเงินเดือนบุคลากรหลังถ่ายโอน รพ.สต.  ล่าสุดทำหนังสือถึง อนุกรรมการถ่ายโอน ขอมติเรื่อง จนท.เปลี่ยนใจไม่ย้ายสังกัด แต่ยังไม่เห็นหนังสือตอบกลับ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมเรื่องการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565  ว่า ขณะนี้มีการประสานข้อมูลร่วมกันทั้งส่วนของสาธารณสุข และทางท้องถิ่น เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนดำเนินการไปได้ให้ได้มากที่สุด ส่วนที่เป็นข้อกังวลในเรื่องบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่มีการถ่ายโอนไปด้วยนั้น มีความกังวลว่า เดิมอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขมีการจ้างงานโดยใช้งบบำรุง แต่เมื่อไปอยู่สังกัด อบจ. จะทำอย่างไร

"ขณะนี้ได้มีการแจ้งไปยังคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอให้มีการพิจารณาและดำเนินการจ้างต่อ เนื่องจากกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานมาตลอด เมื่อมีการย้ายสังกัด แต่การทำงานต้องต่อเนื่อง จึงควรมีการจ้างงานต่อไป นอกจากนี้ ส่วนบุคลากรที่มีชื่อประสงค์ถ่ายโอนไปก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดไม่ประสงค์ไป จึงขอให้ทางคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเรื่องนี้ให้ด้วย" นพ.สุระ กล่าว

 

** เมื่อถามถึงกรณีปัญหาบุคลากรเปลี่ยนใจจากเดิมประสงค์ถ่ายโอน แต่ล่าสุดไม่ต้องการ รวมไปถึงคนที่ต้องการไป แต่ไม่มีการเซ็นชื่อยืนยัน

นพ.สุระ กล่าวว่า เบื้องต้นหากมีชื่อถ่ายโอนไปแล้วนั้น ซึ่งอยู่ในจำนวนกว่า 2 หมื่นราย คือ เป็นข้าราชการราว 12,000 กว่าราย และลูกจ้างชั่วคราว หรือการจ้างอื่นๆอีก 9,000 ราย มีชื่อขอถ่ายโอนตั้งแต่แรก ตรงนี้ต้องส่งข้อมูลให้ทางท้องถิ่นก่อน แต่ถ้าไม่ได้เซ็นชื่อ ทางอกพ.กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถส่งชื่อไปอบจ.ได้อยู่ดี ทุกอย่างต้องมีการเซ็นชื่อ มีหลักฐานให้สมบูรณ์ หากมีกรณีแบบนี้ให้ติดต่อทาง อบจ. ในการดำเนินการเรื่องให้ถูกต้อง เข้าใจว่ามีอยู่จำนวนหนึ่งที่ต้องการไป แต่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีการเซ็นชื่อมีจำนวนหลักร้อยราย 

"ส่วนคนที่ไปเซ็นชื่อประสงค์ถ่ายโอนไปแล้วนั้น เบื้องต้นเรามีหนังสือสอบถามทางคณะอนุกรรมการฯ ถ่ายโอนว่า จะต้องทำอย่างไรกับกลุ่มที่เปลี่ยนใจ ต้องขอให้มีมติเรื่องนี้ แต่ล่าสุดยังไม่เห็นหนังสือตอบกลับมา ซึ่งตอนนี้ก็มีบุคลากรที่แจ้งชื่อมากับทาง นพ.สสจ. และส่งมาให้ทางกระทรวงสาธารณสุข แต่จริงๆ ต้องไปแจ้งที่ทาง อบจ. ต้องแจ้งทั้งสองทาง ขณะนี้ทาง สธ.กำลังรวบรวมรายชื่ออยู่ ภายในเดือน ส.ค. น่าจะทราบตัวเลขทั้งหมด และจะหารือกับท่านปลัดสธ.ในการดำเนินการ แต่โดยหลักต้องส่งให้ทางคณะอนุกรรมการฯ ถ่ายโอนพิจารณา" รองปลัดสธ. กล่าว

**เมื่อถามกรณี  นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) มีข้อห่วงใย รพ.สต.ที่ พัฒนาจนเป็นคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC  มีการเชื่อมโยงให้แพทย์ของโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) หรือโรงพยาบาลศูนย์ มาช่วย เมื่อถ่ายโอนจะทำอย่างไร จะกระทบประชาชนหรือไม่

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "สาธิต" กำชับ นพ.สสจ.ช่วยจนท.ไม่ต้องการถ่ายโอน ด้าน "หมอเจตน์" ไม่ขัดขวาง แต่ห่วงลูกจ้างชั่วคราว)

นพ.สุระ กล่าวว่า ตรงนี้โดยวิธีทำ อบจ.น่าจะทำหนังสือขอความร่วมมือมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้หมอของเรา ไปบริการตรงนี้ให้ เพราะโดยหลักเมื่อย้ายสังกัด ทางสธ.จะสั่งการข้ามแบบนี้ไม่ได้ ต้องรอให้ทาง อบจ. ทำหนังสือเข้ามา รวมถึงกลุ่มที่ถ่ายโอนแล้ว หาก อบจ.ต้องการให้มีคนของเราไปช่วยก็ต้องทำหนังสือยืมตัว แต่โดยหลักอยู่ที่บุคลากรยินยอมด้วย 

"อีกประเด็นคือ เรื่องการทำเรื่องเงินเดือนบุคลากร ที่ทาง อบจ.ต้องเตรียมระบบให้พร้อม เพราะต่อไปจะต้องมาทำเรื่องนี้แทนของกระทรวงสาธารณสุข เพราะเมื่อถ่ายโอนไปแล้ว ทางกระทรวงฯ จะไม่มีหน้าที่ตั้งเรื่องเงินเดือนให้บุคลากรที่ถ่ายโอนอีก จะเป็นหน้าที่ของ อบจ. อย่างไรก็ตาม ทางสธ. ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ซักซ้อมข้อมูลตรงนี้ให้ทาง อบจ.ด้วยเช่นกัน" รองปลัดสธ. กล่าว

เมื่อถามว่า มีคนไม่ประสงค์ถ่ายโอน แต่ขอช่วยราชการ เพราะอาจอยู่ในพื้นที่ หรือใกล้เกษียณนั้นมีเยอะหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า ไม่มาก แต่ที่ อบจ.จะขอยืมตัวเพิ่ม เช่น บางรพ.สต.ไปแค่ 1 คน ทำงานไม่ได้ ต้องขอคนเพิ่ม ทางอบจ.ต้องทำเรื่องยืมตัวมา อย่างไรก็ตาม มีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่(กสพ.) ประชุมหารือกันตลอด ก็จะมีการหารือเช่นกัน 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org