ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 19 ส.ค. ลดระดับโควิดเหลือโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ด้านปลัด สธ.เผยที่ประชุม อีโอซี กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนระยะเวลาการรักษาโควิด19 เป็น 5+5คือ รักษาตัว 5 วัน แยกกักอีก 5 วัน ซึ่งมีการดำเนินการแนวทางนี้แล้ว  ส่วนเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์  เป็นยาหลักรักษา ย้ำ! มีเพียงพอ 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) ชุดใหญ่ ว่า ในการประชุมชุดใหญ่วันที่ 19 ส.ค.นี้ ทางสธ.จะนำเสนอมติการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งล่าสุด มติการประกาศลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะรายงานให้ ศบค.รับทราบ เพื่อให้มีความเห็นต่างๆ อย่างไรก็ตาม จะต้องให้เกียรติ ศบค. เพราะแม้ว่าจะมีการคืนกฎหมายกลับมาแล้ว แต่เรายังคงใช้ความร่วมมือกันในการทำงาน ตนในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่ต้องเสนอให้ ศบค.รับทราบ เผื่อมีความเห็นใดเพิ่มเติม ไม่ใช่อ้างแต่กฎหมาย เพราะถ้าอ้างแต่กฎหมาย ก็คงมีการประกาศเป็นกฎหมายไปแล้ว

เมื่อถามต่อว่าจะมีการหารือถึงบทบาท ศบค. หลังจากโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ตนอยากให้มองว่าทุกคนมาทำงานร่วมกัน ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านเสียสละลงมาบัญชาการ รวบรวมหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เราก็มาดูว่าหากทุกอย่างกลับไปเป็นปกติแล้วกระทรวงสาธารณสุขมั่นใจว่าไม่ต้องพึ่งพาอำนาจของหน่วยงานไหน ท่านนายกฯ ก็คงพิจารณาตามสถานการณ์ ตามรายงานที่เราให้ความมั่นใจกับท่าน

ด้าน  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี)โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับการประชุมเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ได้มีประเมินสถานการณ์รายวันและรายสัปดาห์ และแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะต้องวางแผนการบริหารจัดการโรคโควิด-19 จนถึงเดือน ธ.ค.2565 ทั้งเรื่องการควบคุมโรค การดูแลรักษา วัคซีน และการประชาสัมพันธ์ โดยรูปแบบการรักษานั้น จะต้องให้ยารักษาลงไปถึงระดับร้านขายยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยใช้ใบสั่งแพทย์ไปสั่งซื้อยา 

ส่วนการรักษานั้น ได้มีการทบทวนระยะเวลาการรักษา เพื่อผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยจากที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คือ 7 วันและแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 3 วันหรือ 7+3 ที่ประชุมได้พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ให้เป็น  5+5  คือ รักษาตัว 5 วัน แยกกักเพื่อสังเกตอาการ 5 วัน ซึ่งแนวทางนี้มีการดำเนินการใช้มาแล้ว ส่วนเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์ จะเป็นยาหลักในการรักษา ซึ่งมีเพียงพอ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org