ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเสริมศักยภาพ อสม.ในการทำหน้าที่หมอคนที่ 1 และยกระดับสู่การเป็น “สมาร์ท อสม.” ดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนด้วยกลไก 3 หมอ พร้อมเป็นแกนนำสุขภาพ ต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน

วันนี้ (17 สิงหาคม 2565) ที่โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเสริมศักยภาพ อสม. ในการทำหน้าที่หมอคนที่ 1 และยกระดับสู่การเป็น “สมาร์ท อสม.” โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง และภาคีเครือข่าย อสม. เข้าร่วม

ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง ให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน ดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นหมอคนที่ 1 ร่วมกับหมอคนที่ 2 และ 3 ซึ่งการผลักดันให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็งทางสุขภาพนั้น อสม. ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุดถือเป็นกลไกสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการสุขภาพชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านขึ้น ภายใต้แนวคิด “หมอคนที่ 1 ที่พึ่งชุมชน คนรักษ์สุขภาพ” เพื่อสนับสนุนและเสริมศักยภาพ อสม. ในการทำหน้าที่เป็นหมอคนที่ 1 และยกระดับสู่การเป็น “สมาร์ท อสม.”ที่เข้มแข็ง ช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 2.ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) และ 3.ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง (LTC) ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อม

โดยในปี 2565 อสม.มีการดำเนินงานในฐานะหมอประจำบ้าน มีผลสำเร็จในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้น โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 599,842 ราย ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค 407,285 ราย และกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยโควิด 276,159 ราย รวม 1,283,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 96 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,342,409 ราย โดยจะเดินหน้าดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2565

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ อสม. ทำหน้าที่เป็นแกนนำสุขภาพ โดยเป็นต้นแบบด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน และสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กร อสม. ให้มีศักยภาพและเป็นกลไกสนับสนุนการจัดการสุขภาพชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองด้านสุขภาพอีกด้วย