ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เปิดแผนบริหารวัคซีนโควิด ก.ย.65 พร้อมเผยข้อมูลผลข้างเคียงวัคซีน  ล่าสุด อัปเดต! วัคซีนโควิดคนไทย ล่าสุด อภ.จ่อวิจัยคลินิกระยะ 3 ปลายปี 65 ขึ้นทะเบียนปี 66 ส่วนวัคซีนจุฬาฯ ทดลองระยะ 3 ปี 66 อนุมัติขึ้นทะเบียนปี 67 ส่วนไทยขอปรับสัญญา "ไฟเซอร์" ในเด็ก ขณะที่ ศบค.ไฟเขียวขยายเวลาต่างชาติพำนักในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมมีการแจ้งความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยทั้งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ , ไบโอเนท-เอเชีย , ใบยา , สวทช. และองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ ที่มีความก้าวหน้าคือวัคซีนของจุฬาฯ และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งของจุฬาฯ มีแผนศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 ในปี 2566 และอนุมัติขึ้นทะเบียนในปี 2567 ส่วนขององค์การเภสัชกรรมดำเนินวิจัยคลินิกระยะ 3 ในปลายปี 2565 และจะขึ้นทะเบียนในปี 2566 

นอกจากนี้ ในเรื่องแผนการให้บริการวัคซีนเดือน ก.ย. 2565 กรมควบคุมโรครายงานว่า กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นรับเข็มสอง 80.6% และเข็มสาม 50% ทำอย่างไรจะเร่งฉีด ส่วนนักเรียน 12-17 ปี เข็มสองอยู่ที่ 80.4% และเข็มสามอยู่ที่ 22.4% ส่วนหนึ่งคือ เปิดเรียนเด็กมีการติดเชื้อ ทำให้ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ตัวเลขลดลง 

 

* เปิดข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนโควิด

แต่ที่สำคัญคือ หลายคนไม่ได้อยากไปฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์ ที่ประชุมเสนอว่าฉีดทั้ง 42 ล้านกว่าโดส อาการที่เจอเยอะคือไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว โดยการเสียชีวิตอยู่ที่ 6 รายมานานแล้ว คือ มีแพ้รุนแรงเสียชีวิต ซิโนแวค 0.17 ต่อแสนประชากร แอสตร้าเซนเนก้า 0.06 ต่อแสนประชากร ซิโนฟาร์ม 0.03 ต่อแสนประชากร ไฟเซอร์ 0.03 ต่อแสนประชากร 

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเสียชีวิต แอสตร้าฯ 0.04 ต่อแสนประชากร ซิโนฟาร์ม 0.01 ต่อแสนประชากร และไฟเซอร์ 0.11 ต่อแสนประชากร  และภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำเสียชีวิต แอสตร้าฯ 0.01 ต่อแสนประชากร และ ไฟเซอร์ 0.002 ต่อแสนประชากร  หากเทียบกับการเสียชีวิตจากโควิด ช่วง ม.ค. - ก.ค. 2565 มีจำนวน 9,373 ราย พบว่า ไม่รับวัคซีน 5,260 ราย คิดเป็น 56.12% ถือว่าเยอะที่สุด ไมได้รับเข็มกระตุ้น 3,327 ราย คิดเป็น 35.5% รับเข็มกระตุ้น 786 ราย คิดเป็น 8.38%  

**เปิดแผนบริจาควัคซีนโควิด 

ขณะที่แผนการบริจาควัคซีนโควิด เรารับบริจาคจากจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส ฮังการี เดนมาร์ก และอินเดีย เราก็บริจาคให้เมียนมาและเวียดนาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 1.2 ล้านโดส และไฟเซอร์ให้แก่เมียนมาอีก 1.5 ล้านโดส  ส่วนวัคซีนที่รอรับมอบนั้น จะมีการปรับสัญญาไฟเซอร์ จากวัคซีนอายุ 12 ปีขึ้นไป (ฝาสีม่วง) จำนวน 3.5 ล้านโดส มาเป็น วัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี (ฝาสีส้ม) จำนวน 5.9 แสนโดส และวัคซีนใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี (ฝาสีแดง) 2.9 ล้านโดส กรณีที่ อย.อนุมัติการใช้ในกลุ่มนี้ หากยังไม่อนุมัติจะปรับเป็นวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปีทั้งหมด ส่วนวัคซีนซิโนแวคสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาไปที่ อย. คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณา 

**แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอายุ 5-11 ปี 

แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอายุ 5-11 ปี สธ.ขอให้ ศบค.พิจารณาเรื่องนี้ตามคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คือ หากรับ 2 เข็ม ไม่ติดเชื้อมาก่อน เว้น 3 เดือนรับกระตุ้นได้ หากมีประวัติติดเชื้อ หากได้รับ 1 เข็มหรือไม่ได้เลย แนะฉีดกระตุ้นห่างติดเชื้อ 3 เดือน หากครบ 2 เข็มแล้วยังไม่แนะนำให้ฉีด โดยฉีดผ่านระบบสถานศึกษาและสถานพยาบาลส่วนผลสำรวจการฉีดเข็มกระตุ้น พบว่า ฉีด ไม่แน่ใจ และไม่ฉีด สัดส่วนพอกันคือ 1 ใน 3 

**ขยายเวลาพำนักผู้เดินทางเข้าไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเรื่องขยายเวลาพำนักผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร โดย ก.ค.มีผู้เดินทางเข้ามา 1.07 ล้านกว่าคน ต่างจาก มิ.ย. 7 แสนกว่าคน ตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมามีเงินเข้ามา 1.57 แสนล้านบาท ตัวเลขการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยว 3.7 ล้านคน สร้างรายได้ 1.76 แสนล้านบาท มามากที่สุดคือมาเลเซีย 5.35 แสนคน อินเดีย 3.91 แสนคน สิงคโปร์ 2.14 แสนคน อังกฤษ 1.85 แสนคน และวียดนาม 1.7 แสนคน 

ขณะที่ไทยเที่ยวไทยรายได้ 3.7 แสนล้านบาท เที่ยว 86 ล้านคน-ครั้ง  รายได้ทั้งไทยและเทศพบว่า ไทยช่วยไทยกันเอง 2 ใน 3 และจากต่างชาติ 1 ใน 3 ทำอย่างไรให้โตขึ้นอีก จึงวิเคราะห์ว่าต่างชาติที่จะมา นอกจากเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใชเจ่าย คือ เพิ่มระยะเวลาพำนักให้ได้ การให้วีซ่าจึงสำคัญ โดย VOA ไม่เกิน 15 วัน มีจำนวน 15 ประเทศ ขยายไม่เกิน 30 วัน และกลุ่ม ผ.30 ยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ พำนักไม่เกิน 30 วัน ที่ไทยให้ฝ่ายเดียว 52 ประเทศ และมีความตกลงระหว่างกัน 13 ประเทศ จึงให้ขยายระยะเวลาไม่เกิน 30 วันเป็นไม่เกิน 45 วัน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org