ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิด “ราชพิพัฒน์ Sandbox Model” ตามนโยบายทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมียุทธศาสตร์ 9 ด้าน 9 ดี ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จึงดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพโดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขตพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สถานพยาบาลเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่ โครงการต่างๆ ประกอบด้วย 1. พัฒนา Excellent center เวชศาสตร์เขตเมือง ควบคู่การดูแลคนเมือง โดยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์สาขาต่างๆ ให้ประชาชนได้รับบริการทั่วถึงและเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น Service plan โรคเบาหวาน ,โรคหลอดเลือดสมอง ,โรคไต เป็นต้น 2. เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์เพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยประคับประคอง เป็นแห่งแรกของกทม. และสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน โดยเปิด Community IMC บ้านผู้สูงวัยหรีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพชุมชน กทม. จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ชุมชน เพื่อสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เปิดโครงการ Pre-school บ้านเด็กเล็ก กทม. เพิ่มขึ้น และ โครงการนักสืบฝุ่นโดยติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ไว้ในชุมชนทั้ง 5 เขต ติดตามหาสาเหตุของฝุ่นเพื่อป้องกันแก้ไข เป็นต้น

3. เปิดศูนย์สนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง หรือศูนย์สนับสนุนบริการคนเมือง สร้างบริการให้ระบบปฐมภูมิเข้มแข็งโดยใช้หลัก Hi-touch และ Hi-tech ประกอบด้วยระบบเทคโนโลยี และระบบบริการขนส่งสาธารณสุข โครงการที่ใช้ระบบเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3.1 Urban medicine support center ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพ 24 ชั่วโมงผ่านระบบโทรศัพท์ VDO call center โดย Scan QR code ในFacebook โรงพยาบาลราชพิพัฒน์  3.2 Telemedicine ประชาชนสามารถปรึกษา รักษากับแพทย์ผ่านระบบรักษาทางไกล และใช้ระบบส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช.ในอนาคต  3.3 Telemedicine consult ระบบปรึกษาการรักษาระหว่างพยาบาลและแพทย์ที่คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลเหมือนทำให้คนไข้ได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น และลดการส่งต่อการที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น 3.4 Urban medicine home care ระบบเยี่ยมบ้านและฝากร่างกาย Online เพื่อให้แพทย์พยาบาลที่คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้ติดตามอาการคนไข้หลังการรักษาร่วมกัน และถ้าผู้ป่วยพบปัญหาสามารถโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ 24 ชั่วโมง ลดการส่งต่อการที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

ราชพิพัฒน์ Sandbox Model มีการใช้ระบบเทคโนโลยีร่วมกับระบบบริการขนส่งสาธารณสุข ประกอบด้วย 1. รถTelemedicine-Ambulance รับการประสานงานจากศูนย์เอราวัณและเพิ่มช่องทางการติดต่อฉุกเฉินให้ประชาชน เพิ่มอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ถึงที่เกิดเหตุและบนรถฉุกเฉิน 2. รถ Motor lance หน่ายเคลื่อนที่เร็วเพื่อประเมินปฐมพยาบาลและกู้ชีวิตรักษาทันทีที่เกิดเหตุ เข้าถึงชุมชนได้ง่ายรวดเร็วมากขึ้นโดยเฉาพะชุนชนที่รถฉุกเฉินเข้าถึงยากและการจราจรติดขัด 3. รถ Commu-lance เหมือนศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่และรถสามารถเข้าไปบริการผุ้ป่วยถึงชุมชนด้วยอุปกรณืที่ทันสมัย สามารถจาะเลือด ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์และปรึกษาแพทย์ได้ด้วยระบบเทคโนโลยี และใช้ระบบส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช.ในอนาคต รวมทั้งใช้ระบบบริการขนส่งสาธารณสุข ประกอบด้วย รถรับส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ และรถโดยสาร ชุมชน-โรงพยาบาล ทั้งนี้ การพัฒนา Sandbox ราชพิพัฒน์ Model ตะส่งผลให้ระบบบริการปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึงถึงระดับเส้นเลือดฝอย ลดความเหลื่อมล้ำและรอยต่อโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

นายชัชชาติกล่าวว่า เพียงแค่ 3 เดือนก็สามารถทำนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยความร่วมมือของของทุกฝ่าย แต่จุดมุ่งหมายหลักคือประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรื่องสาธารณสุขจึงมีความสำคัญมากๆ ของเมือง กทม.เองรับผิดชอบ 100% ในระดับปฐมภูมิ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เช่น เรื่อง รถเทเลเมด (telemedicine) ที่สามารถให้รถไปถึงชุมชน คุยกับหมอผ่านชุมชนได้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากในอนาคตคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

“ถ้าเปรียบให้เห็นภาพโรงพยาบาลก็เหมือนกับ ยานแม่ที่ส่งยานลูกออกไปบริการคนในชุมชน แต่ที่ผ่านมายานลูกเราไม่เข้มแข็ง ดังนั้นทุกคนก็วิ่งมาหายานแม่หมด สุดท้ายทำให้โรงพยาบาลแออัด เหมือนเราปะทะที่ด่านสุดท้าย ดังนั้นต้องส่งยานลูกไปปะทะที่ชุมชน ถ้ายานลูกเข้มแข็ง สุดท้ายแล้วโรงพยาบาลก็จะสบายขึ้น และมีโอกาสดูเฉพาะเคสที่จำเป็น ประชาชนก็มีความสุขขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล”นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า  โครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มาร่วมมือกัน ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราสร้างความไว้วางใจ สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนได้ มีคนที่จะช่วยเหลือเราจำนวนมาก เพราะทุกคนอยากเห็นเมืองที่ดีขึ้น ดังนั้นหน้าที่เรา นอกจากทำเรื่องสาธารณสุขแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือการสร้างความไว้ใจ ความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและประชาชน

“นี่ถือเป็นมิติใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขอย่างไม่น่าเชื่อ ระบบสาธารณสุขจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น แต่ต้องเรียนว่าจะทำเพียงจุดเดียวไม่ได้ หัวใจของ Sandbox คือทำ scale ให้ได้ ทำอย่างไรให้มีรถ Motor lance  300 คันทั่วกทม. ทำอย่างไรมีรถ Commu-lance  150 คัน ลงไปบริการชุมชนในทุกเขต ทำอย่างไรให้มีศูนย์เด็กอ่อน 3 เดือน - 2ขวบเพิ่มขึ้นกระจายทุกชุมชน เพื่อให้พ่อแม่ที่มีลูกอ่อนมีความสบายใจในการฝากเลี้ยงลูกอ่อน สามารถคืนพ่อแม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานซึ่งจะเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีก ต่อไปเมื่อเราพิสูจน์ Sandbox นี้แล้วเราจะ scale หรือขยายผลอย่างไร ดังนั้นต้องให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมที่ขยายผลออกไป 1 เดือนขยายผลถึงไหน 2 เดือนขยายผลถึงไหน และเมื่อไหร่จะครบทั้งกรุงเทพมหานคร ภายใน 1 ปีได้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกคน ขอให้โครงการ “ราชพิพัฒน์ Sandbox Model” ประสบความสำเร็จแต่ไม่ใช่ตามเป้าหมาย แต่ให้เกินกว่าเป้าหมายอีก 100 เท่า 1000 เท่า เพราะคือการเปลี่ยนความเป็นอยู่และสุขภาพของคนกรุงเทพฯ จริงๆ ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง