ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"นพ.จเด็จ" เผยกรณี "ถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ." เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดสรรด้าน งบประมาณ-สิทธิประโยชน์-สวัสดิการ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรแตกต่างกันหรือไม่ รวมถึงการเบิกจ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม  เบิกจ่ายราชการ ชี้เชื่อว่าไม่มีผลกระทบ ยังคงไปรับบริการรพ.สต. ในพื้นที่ได้เช่นเดิม

 

**คำถาม :   มีแนวทางหรือหลักการบริหารจัดสรรด้านงบประมาณอย่างไร

นพ.เจด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.  กล่าวว่า โดยหลักจะมี 3-4 ประเด็น 1. คือ งบประมาณจะจัดสรรได้นั้น ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่เรียกว่าเป็นระบบเครือข่าย  ซึ่งหมายความว่า กลไกการให้บริการประชาชนจะต้องเป็นบริการที่ร่วมให้บริการประชาชน หรือที่เราเรียกว่าหน่วยบริการประจำ ซึ่งรพ.สต. นั้นส่วนใหญ่จะไม่มีแพทย์ประจำที่ให้บริการแบบครบวงจร จะเป็นเพียงหน่วยบริการที่ให้บริการเบื้องต้น แต่หากมีความจำเป็นก็ต้องส่งต่ออีก  ซึ่งในรูปแบบนี้ มติหลักประกันสุขภาพฯ คิดว่าก็ยังคงเป็นรูปแบบนี้อยู่  

ฉะนั้นถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ เราจะมาดูว่ากลไกการเงินจะเป็นอย่างไร  ซึ่งกลไกการเงินจะมีประมาณ 3 รูปแบบ และภายใต้กลไกนี้จะมีเงื่อนไขคือ รพช. , รพท., รพศ. เองต้องตกลงกันมาว่าจะมีการจัดการอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบที่ 1 จะเป็นไปได้คือ  สปสช. จะจัดงบประมาณไปเหมือนเดิมโดยการโอนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแม่ข่ายไปให้หัวหน้าแม่ข่าย จากนั้นต้องทำการตกลงกับ รพ.สต. ว่าจะโอนเงินเท่าไหร่ ด้วยวัตถุประสงค์อะไรบ้าง เป็นต้น

รูปแบบที่ 2 อาจจะตกลงกันมาก็ได้ว่า ขอให้ภารกิจนี้ไปอยู่ที่ รพ.สต. ให้ดำเนินการจัดการเองเลยก็ได้ หรือรูปแบบที่นอกเหนือจากนี้ คงต้องมาพูดคุยกัน  ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะพบปัญหาเล็กน้อย เช่น หากรับเงินแล้วจ่ายต่อไป ถ้าหากคนละสังกัดแล้วจะโอนไม่ได้ เราอาจจะแก้ปัญหาให้ได้คือ สามารถแจ้งมาเลยว่าจะให้โอนเท่าไหร่ เราจะโอนทันทีเลยก็ได้ 

**คำถาม : การจัดสรรงบประมาณก่อนและหลังถ่ายโอนมีข้อแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

นพ.เจด็จ กล่าวว่า สามารถทำให้แตกต่างได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของพื้นที่นั้น อย่างเช่น 1 อำเภอ มี รพ.สต. อยู่ในสังกัด 10 แห่ง ซึ่งเมื่อก่อนทางโรงพยาบาลชุมชน (รพช) ก็รับเงินจาก สปสช.ไป  และคุยกับรพ.สต. ว่าไม่ต้องรับเงินจาก สปสช. โดยตรงก็ได้ ทางโรงพยาบาลจะจัดส่งยาไปให้หรือมีการจัดส่งบุคลากรเข้าไปช่วย เป็นต้น ซึ่งแบบนี้จะเป็นรูปแบบเดิม   แต่ภายหลังเคยมีบางแห่งแจ้งเรามาว่า เงินตรงนี้ขอให้ส่งตรงไปที่ รพ.สต. เลย อาทิเช่น ค่าฉีดวัคซีน ฯลฯ ซึ่งเราก็ดำเนินการให้ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลว่าจะมีการพูดคุยตกลงกันอย่างไร หรือมีเกณฑ์การจัดการให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่นั้นอย่างไร เป็นต้น 

**คำถาม : สิทธิประโยชน์-สวัสดิการ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร 

นพ.เจด็จ กล่าวว่า ในแง่สิทธิประโยชน์อาจมองได้ 2 แบบนั่นก็คือ สปสช. เราจะดูสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนที่จะได้รับ ส่วนสิทธิประโยชน์ที่รพ.สต. ขะได้รับเป็นเรื่องของสธ.กับ กปท. ซึ่งในส่วนสิทธิประโยชน์ของประชาชน ทางสปสช. เอง เชื่อว่าไม่มีผลกระทบ ยังคงไปรับบริการ รพ.สต. ในพื้นที่ได้เช่นเดิม  ส่วนเรื่องกลไกการเงินสามารถทำแบบเดิมก็ได้หรือบริหารจัดการแบบใหม่ให้ดีกว่าเดิมก็ได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับองค์กรว่าจะพูดคุยกันอย่างไร และนำเสนอมา เราเชื่อว่ากองทุนฯ มีความพร้อมพอสมควร

**คำถาม : กรณีเมื่อถ่ายโอนไปแล้วสามารถขอรับเงินสนับสนุนจาก กองทุน กปท. ได้หรือไม่ 

นพ.เจด็จ กล่าวว่า ยังสามารถขอรับได้เหมือนเดิม เพราะผู้ที่สามารถขอรับการสนับสนุนได้คือ รพ.สต. , รพช. , รพท.  ฯลฯ เนื่องจากกองทุนนี้ เป็นกลไกการบริหารโดยท้องถิ่นร่วมกับ สปสช. อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น รพ.สต. มาขอรับ ไม่ว่าจะเปลี่ยนสภาพยังไงก็ยังเป็นหน่วยบริการที่สามารถมีสิทธิ์ขอได้ ซึ่งกติกาการขอเงินกองทุนท้องถิ่น เราได้แยกออกเป็นประกาศเฉพาะ ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยรพ.สต. ทุกสังกัดสามารถขอรับได้หมด

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

 รวมข่าวถ่ายโอน รพ.สต. สู่ ท้องถิ่น

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org