ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชากรกลุ่มเปราะบางมิใช่หมายความแค่เพียงเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่มั่นคงหรือไม่สามารถดูแลตัวเองได้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้ที่มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง ถูกสังคมมองข้าม เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ประชากรไร้รัฐ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ที่ขาดการดูแลจากภาครัฐอย่างเป็นระบบและเหมาะสม รวมทั้งสถานการณ์และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้การพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาของกลุ่มเปราะบาง

จึงควรเข้าใจถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบาง ควบคู่กับการสร้างงานวิจัยแนวใหม่ เพื่อให้เกิดโอกาสของการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาสุขภาวะให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งนอกจากการตั้งโจทย์วิจัยด้วยข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องแล้ว นักวิจัยควรมีมุมมองทางสังคมและจิตวิทยาอย่างรอบด้าน รวมทั้งควรมีกระบวนการสื่อสารที่ดีกับแหล่งข้อมูล ตลอดจนควรสามารถคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย  

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ความเปราะบางมีความเป็นพลวัต และสามารถลดความเปราะบางลงได้ หากมีการสนับสนุนให้กลุ่มคนเปราะบางสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระในสังคม ดังนั้นการออกแบบงานวิจัยเชิงนโยบายสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง จึงต้องคำนึงว่า  ทำอย่างไรที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งการวิจัยแนวใหม่มีกรอบความคิดที่เรียกว่า 3D คือ D1-Denormalization การหากรอบคิดใหม่ในการทำงาน โดยพยายามลดความซ้ำซ้อนในการทำงานวิจัยแบบแยกส่วน  D2-Detour การหาแนวทางเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางอ้อม

เช่น การศึกษาปัจจัยด้านสังคมและสภาพแวดล้อมที่ทำให้กลุ่มเปราะบางมีโอกาสในการเข้าถึงได้น้อย เพราะกลุ่มเปราะบางอยู่ภายใต้อิทธิพลปัจจัยแวดล้อมที่หลากหลาย บางปัจจัยไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรง แต่มีผลต่อระดับความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ  D3-Democratization การทำให้กลุ่มเป้าหมายมีสมรรถนะในการจัดการตนเองต่อการป้องกันและดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น งานวิจัยควรสร้างโอกาสเพื่อเสริมพลังความรู้ หรือการสร้างเทคโนโลยีอย่างง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต  

คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสํานักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้ว่า สสส. จะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยโดยเฉพาะ แต่ภายใต้การดำเนินงานในแต่ละเรื่องมีงานวิชาการเป็นตัวชี้นำทิศทางของการขับเคลื่อน ตลอดถึงการกำกับติดตามนโยบายด้านต่างๆ เพื่อการสร้างสุขภาวะ และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ ซึ่งสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง สสส. มักใช้คำว่า “กลุ่มประชากรเฉพาะ”

โดยปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหากลุ่มประชากรเฉพาะหลากหลายกลุ่ม อาทิ คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ มุสลิม ผู้ต้องขัง ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มประชากรดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิต หรือภาวะซึมเศร้า จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะวิกฤตหลังสถานการณ์โควิดที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงและลดความสามารถในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการทางสุขภาพ

ซึ่งงานวิจัยที่จะช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหากลุ่มประชากรเฉพาะนี้ ควรทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รู้รากของปัญหาที่แท้จริง เพื่อการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และควรศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีบริบทใหม่ๆ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากพอในการนำมาประเมินและออกแบบนโยบายเพื่อการแก้ปัญหา ตลอดจนการคาดการณ์เพื่อวางแผนอนาคตที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม    

ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสํานักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การทำงานวิจัยคือ การหาความจริงและมีการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งนี้ถ้าวิเคราะห์จากการศึกษาวิจัยประเด็นกลุ่มเปราะบางที่ผ่านมา เห็นข้อมูลชัดเจนว่าการแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีเครื่องมือเฉพาะ แต่เพื่อความยั่งยืน ควรผนวกรวมความเฉพาะเข้ากับระบบปกติให้ได้ และงานวิจัยในกลุ่มเปราะบาง อาจไม่สามารถใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามทฤษฎีได้

จึงทำให้การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายอาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงประเด็น ซึ่งวิถีใหม่ ภายหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิด นักวิจัยควรพัฒนาโจทย์วิจัยที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อการใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายหลากหลายวิชาชีพ เพื่อการมองปัญหาอย่างรอบด้าน และสามารถพัฒนาข้อเสนอจากงานวิจัยให้เป็นนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางได้จริง ภายใต้กระบวนการทำงานที่มีความไว้วางใจกันทั้งกลุ่มเปราะบาง นักวิจัย และชุมชนในพื้นที่  

ดร.ธวัชชัย อภิเดชกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ข้อมูลจากการทํางานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรไร้รัฐว่า การทำงานวิจัยต้องเข้าใจในวัฒนธรรม วิถีชีวิต ข้อจำกัดและความแตกต่าง ด้านภาษาในการสื่อสาร และความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน โดยมีกระบวนการทำงานที่สำคัญคือ การค้นหาประเด็นปัญหาให้ชัดเจน การใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการค้นหาข้อมูลตามหลักการวิจัย การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับชุมชน

การนำผลจากการวิจัยไปเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์กับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการสร้างแนวร่วม ทั้งในชุมชนและผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเพื่อการทำงานที่หนุนเสริมกัน นอกจากนี้ยังมีเทคนิคสำคัญในการทำงาน อาทิ การแก้ปัญหาจากปัญหาที่มีผลกระทบมากไปยังผลกระทบน้อย จากปัญหาที่เกิดกับทุกคนไปสู่ปัญหาที่เกิดกับบางกลุ่ม จากปัญหาที่มีผลกระทบทันที ไปยังผลกระทบที่จะเกิดในระยะยาว จากปัญหาที่แก้ไขได้ในพื้นที่ ไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ฯลฯ

ซึ่งเมื่อไหร่ที่นักวิจัยเข้าใจความแตกต่าง จนไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง เมื่อนั้นคือจุดเริ่มต้นของการวิจัยที่ดีที่สุด  นส.สมพร เพ็งคํ่า นักวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นักวิจัยและนักปฏิบัติการภาคสนามให้มุมมองถึงงานวิจัยกลุ่มเปราะบาง กรณีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อ 5 ปีก่อน มีโอกาสติดตามกรณีการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศลาว และมีผลกระทบมาถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างประเทศ

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ นักวิจัยต้องรู้จักกับพื้นที่ก่อนว่าบริบทของพื้นที่เป็นอย่างไร ประชากรเป็นอย่างไร มีอาชีพอะไร และต้องรู้ถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ก่อน โดยนักวิจัยต้องศึกษาพื้นที่และทำความเข้าใจชุมชน พร้อมทั้งชวนให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย ด้วยการเสริมพลังในการทำงานวิจัยร่วมกัน เช่น ชาวบ้านมาช่วยวาดแผนที่ และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย แล้วจึงนำความรู้จากผู้เชี่ยวชาญศาสตร์อื่นๆ มาพิจารณาร่วมกัน เช่น มีวิศวกรมาช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแก่ชาวบ้าน ฯลฯ โดยมีนักวิจัยเป็นคนอำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันของชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ

ซึ่งในการทำงานกรณีสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องข้อมูลพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่นงานวิจัยโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ต้องมีการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน เป็นข้อมูลตั้งต้น และอีกด้านหนึ่งทีมวิจัยวิเคราะห์ว่า ชาวบ้านควรมีเครื่องมือที่สามารถวัดปริมาณสารพิษได้ด้วยตนเอง เพื่อได้รู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินฯ มีผลกระทบต่อเขาอย่างไร ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้ประสานกับทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำเครื่องมือมาให้ชาวบ้านวัดปริมาณสารพิษ และบันทึกข้อมูลด้วยตนเอง จนทำให้ชาวบ้านกลายเป็นนักวิทยาศาตร์ภาคพลเมือง และข้อมูลที่บันทึกสามารถนำไปพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปวางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป รวมทั้งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอดงานวิจัย และเมื่อนักวิจัยออกไปจากพื้นที่แล้ว ชาวบ้านยังสามารถดำเนินการต่อได้อย่างยั่งยืน  

ด้าน นพ.สิระ กอไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเด็นงานวิจัยในกลุ่มเปราะบางที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงนี้ นักวิจัยควรตั้งต้นจากการมีวิธีคิดและวิธีมองเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นก่อน รวมถึงเข้าใจในธรรมชาติและความหลากหลายดังกล่าว ตลอดจนควรเลี่ยงการใช้คำบางคำ เช่น เพศทางเลือก รักร่วมเพศ เพศที่สาม สาวประเภทสอง ชายจริงหญิงแท้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแม้มีสมาคมระดับนานาชาติ และแนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศของต่างประเทศ แต่กลับพบว่า มีความแตกต่างกันในคนไทย

ดังนั้นงานวิจัยจึงควรศึกษาฐานข้อมูลในคนไทยให้ได้จำนวนมากพอที่จะสามารถนำไปอธิบายความเข้าใจในเรื่องต่างๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือจากตัวอย่าง การกินยาคุมกำเนิดเพื่อข้ามเพศ มีคำแนะนำว่าไม่ควรทำ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง แต่จากข้อมูลบางงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 30 ยังมีการกินยาคุมกำเนิดอยู่ แสดงว่าเป็นปัญหาที่ยังต้องแก้ไขและให้ความรู้ ดังนั้นอาจต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องก่อน โดยทำความเข้าใจว่าปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน  

อย่างไรก็ตาม การสร้างงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหากลุ่มเปราะบางในยุค New Normal ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง หากแต่ประสบการณ์และสถานการณ์ปัญหาที่ผ่านมา จะเป็นฐานความรู้สำคัญ ที่สามารถนำไปสู่การจัดการตนเอง และการพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งของกลุ่มเปราะบาง โดยมีเครื่องมือและเทคโนโลยีสนับสนุนการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม และส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต