ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.ประชุมร่วมผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพ และรพ.ต่างๆ เตรียมรับมือน้ำท่วม  ด้าน สป.จัดงบกลางช่วยเหลือฉุกเฉินราว 10 ล้านบาท พร้อมสำรองยา เวชภัณฑ์ ขณะที่จังหวัดมีงบสำรองเช่นกัน  ย้ำ รพ.พื้นที่เสี่ยงเคยท่วมเตรียมให้พร้อม เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครราชสีมา  ส่วนการจัดการความเครียด พบช่วงนี้เป็นน้ำท่วมรอระบาย ทำเครียดระยะสั้น เหตุข้าวของเสียหาย แนะเก็บของขึ้นที่สูง มีสติ  

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานพยาบาลรองรับสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมในพื้นที่ประเทศไทย ว่า หลังจากพายุหมาอ๊อนทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ล่าสุดมีรายงานว่าพายุจะเข้ามาอีกลูก และจะส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางนั้น เบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ทราบว่ายังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก แต่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 

"เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพต่างๆ และหน่วยบริการ เพื่อมอบหมายให้มีการติดตาม สั่งการพื้นที่เสี่ยงจัดทำแผนบริหารจัดการรับมือฝนตกน้ำท่วม ทั้งแผนหลัก แผนสำรอง แผนการดูแลประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต ฟอกไต และผู้ป่วยที่ต้องรับคีโม ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเอาไว้ทั้งหมด ตลอดจนการจัดเตรียมทีมบุคลากรดูแลด้านร่างกาย และสุขภาพจิต ชุดใหญ่ ชุดเล็ก เอาไว้รองรับสถานการณ์" ปลัดสธ.กล่าว

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ยังได้เตรียมงบกลางสำหรับการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินประมาณ 10 ล้านบาท เอาไว้ช่วยเหลือในระยะฉุกเฉิน พร้อมระบบสำรองยา เวชภัณฑ์ จัดเป็นถุงยังชีพไว้รองรับ ในขณะที่แต่ละจังหวัดก็มีงบประมาณของแต่ละจังหวัดอยู่ราวๆ 5-10 ล้านบาทอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากรายงานขณะนี้ มีสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงแบ่งเป็นภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด และภาคกลาง 4 จังหวัด  จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม อาทิ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครราชสีมา เป็นต้น

 
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาสุขภาพจิตใจนั้น จากการติดตามสถานการณ์พบว่าที่ท่วมตอนนี้  ไม่ได้ท่วมยาวนาน แต่เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังจากจากปริมาณน้ำฝนมาก รอการระบาย ระบายไม่ทัน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่ส่งผลกระทบกับปัญหาทรัพย์สิน เช่น ยานพาหนะ ข้าวของในบ้านได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดระยะสั้น เวลาเกิดฝนตกฟ้าร้อง จะเกิดความวิตกกังวลได้ แต่ยังไม่พบสัญญาณที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีการปรับตัวได้เร็ว

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งท่วมนานเป็นเดือน เมื่อติดตามต่อเนื่องไป 3 ปี ก็พบว่ามีภาวะจิตใจหลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง (Posttraumatic stress disorder (PTSD) ผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาวอยู่ราวๆ 10 % ถือว่าน้อย กรณีที่เราพบปัญหาสุขภาพจิตน้อยเป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือเร็ว มีการเยียวยา และคนไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว ดังนั้นปีนี้ก็คาดว่าจะไม่มาก    

“ดังนั้น ในระยะนี้ ขอให้ประชาชน มีการเตรียมตัวเอง เก็บของมีค่าต่างๆ เอาไว้บนที่สูง จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ สิ่งจำเป็นเอาไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการเตรียมตัวเองเอาไว้เช่นนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลจากปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ต้องควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือต้องมีสติ เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาใหม่ๆ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง หัวร้อน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
 

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org