ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผนึกภาคีเครือข่ายเปิดเสวนา “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทางครั้งที่ 4 ” พลังองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสุขที่ปลายทาง : ทิศทาง เป้าหมาย นโยบายและการขับเคลื่อนมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี สช. ผนึกภาคีเครือข่าย 13 องค์กร จัด “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การวางแผนการดูแลล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างสุขที่ปลายทาง ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ซึ่งได้มีการเสวนาในเรื่อง "พลังองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสุขที่ปลายทาง : ทิศทาง เป้าหมาย นโยบายและการขับเคลื่อน" โดยมี นพ.มนัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ศ.คลินิกนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการกำกับทิศการขับเคลื่อนมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย และนพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร่วมด้วย

 

นพ.มนัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของ สธ. มีการจัดรูปแบบและพัฒนาระบบบริการให้ทั่วถึงต่อประชาชนและครอบคลุมทุก เขตสุขภาพทั้ง 14 เขต  มีการแบ่งการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่ต้องรับการส่งต่อไปถึงโรงพยาบาลตติยภูมิ ฯลฯ ทั้งนี้การจัดบริการจะมีลำดับการให้บริการตามลำดับตั้งแต่ปซมภูมิ ทุติยภูมิ ไปจนถึงตติยภูมิ  ซึ่งในการทำงานนั้นเราจะมีทีมแพทย์พยาบาลหรือทีมสหวิชาชีพที่ช่วยกันดูแล 

สำหรับเป้าหมาย คือ  1. ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (8 กลุ่มโรค) ได้รับการดูแลตามมาตรฐานและภายในเวลาที่กำหนด 2. มีการพัฒนาระบบเครือข่ายในโรงพยาบาล 3. พัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลระดับ A,S,M, L ร้อยละ 50 4. จัดทำครั้งเครื่องมือสำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลระดับ  A,S,M, L ร้อยละ 50  5. พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลระดับ  A,S,M, L ร้อยละ 50 

ส่วนแผนพัฒนาระบบสุขภาพในปีงบประมาณ พ.ศ2556-2570 นั้น เป้าหมายในการพัฒนาคือ 1. เพื่อจัดบริการด้านการดูแลระยะประคับประคอง/ระยะท้ายแบบบูรณาการอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี 2. เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มโรคและกลุ่มวัย 3. พัฒนาให้เกิดการดูแลเชื่อมโยงจากโรงพยาบาลสู่บ้านและชุมชน (บูรณาการกับบริการปฐมภูมิ) 4. เสริมพลังการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยครอบครัวและชุมชน 5. ลดความแออัดของโรงพยาบาล 6. พัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง 

ในส่วนมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย กลุ่มที่เข้าเกณฑ์ เพื่อจะเข้าสู่กระบวนการดูแลแบบประคับประคอง ตัวอย่างเช่น เริ่มมีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น มีโรคร่วมหลายโรคและมีสัญญาณไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือสภาวะของร่างกายที่มีการเสื่อมถอยและต้องการการดูแลและความช่วยเหลือมากขึ้น หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่คาดหมายบ่อยครั้ง มีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบ เช่น การล้มรุนแรง ภาวะสูญเสีย รวมถึงการเข้ารับการดูแลในสถานบริบาล เป็นต้น ทั้งนี้เราจะต้องมีการพูดคุยและเตรียมพร้อมในการดูแลกันต่อไป

สุดท้ายนี้ ประโยชน์ของ Advance care plan (ACP) คือ ผู้ป่วยและครอบครัวได้สื่อสารทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับความต้องการการดูแลด้านสุขภาพของผู้ป่วย บุคลากรสุขภาพทราบถึงเป้าหมายและความต้องการการดูแลของผู้ป่วยและครอบครัวลดการรักสาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยรวมถึงลดความขัดแย้งในเรื่องการรักษาพยาบาลระหว่างทีมผู้รักษาและครอบครัวด้วย เป็นต้น

ด้าน ศ.คลินิกนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการกำกับทิศการขับเคลื่อนมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย กล่าวว่า การที่เราจะทำงานร่วมกันนั้นจะต้องมีทิศทางและเป้าหมายของการเข้าสู่สภาวะระยะสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมของทุกหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อพูดคุยกันง่ายกับทุกภาคส่วนให้เสมือนเป็นเรื่องง่ายที่สามารถคุยกันได้ 

ซึ่งประชาชนนั้นจะต้องเข้าใจในสิทธิประโยชน์ของตนเอง ว่าสามารถเข้ารับบริการอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในระยะท้ายของชีวิต ประชาชนจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ด้วย  ด้านบุคลากรทางการแพทย์ก็เช่นกัน จะต้องตื่นตัวในเรื่องนี้เนื่องจากอนาคตอาจเป็นตัวทำให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบบริการจะต้องรองรับด้วย นอกจากประชาชนและบุคลากรที่จำเป็นต้องเข้าใจแล้ว ในส่วนของระบบบริการเองทั้งเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต จะต้องเข้าใจในโครงสร้างด้วย ซึ่งเขตสุขภาพแต่ละที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน แต่เราก็จะพยายามเพิ่มศักยภาพในแต่ละเขตที่จะสามารถให้บริการได้สูงขึ้นและดียิ่งกว่าเดิม 

และที่สำคัญมากที่จะต้องคำนึงถึงในอนาคตนั่นก็คือ ระบบการบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 65 นี้ที่จะมีการกระจายอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะหากในอนาคตข้างหน้า การบริหารจัดการในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เป็นกลุ่มระยะสุดท้ายของชีวิต ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น อำนาจการจัดการอยู่ที่ อบจ. จะเป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ในท้องถิ่นที่ชัดเจนมากขึ้น

 

 

ด้าน นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช. ได้มีการทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งสำหรับหลักการให้สิทธิประโยชน์ เราจะใช้หลักการที่ว่าอะไรที่ไม่ใช่สิทธิประโยชน์ จะประกาศระบุข้อยกเว้นไว้ชัดเจน และอะไรที่ไม่ระบุไว้คือมีสิทธิทั้งหมด ส่วนหลักการสำหรับค่าใช้จ่าย เราจ่ายแบบเหมาต่อหัวประชากร และมีการเพิ่มเติมคือ จ่ายต่อหัวผู้ป่วย และยังมีจ่ายเฉพาะรายการ คือ จ่ายตามรายการบริการ เป็นต้น 

เพราะฉะนั้น การดูแลแบบประคับประคองจนกระทั่งถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็ถือเป็นสิทธิประโยชน์ ซึ่งสิทธิประโยชน์ตรงนี้ได้มีการทำเป็นรูปธรรมซึ่งมีการบริการเกิดขึ้น บางครั้งหากเกิดการเจ็บป่วยหรือเจ็บป่วยที่บ้านนั้น หน่วยบริการเอง บางครั้งอาจจะดูแลบ้างไม่ดูแลบ้าง อาจจะออกไปบริการประชาชนนอกพื้นที่บ้างหรือไม่ก็ให้ผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเองที่หน่วยบริการ ทั้งนี้สปสช. ได้เริ่มจ่ายตั้งแต่ปี 2556 และมีการเพิ่มขึ้นทุกปีตามเป้าหมาย 

สำหรับ ร่างประกาศคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ ปี 2556 ในข้อที่ 36.3 การดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้านอย่างเหมาะสมสามารถเผชิญกับความเจ็บป่วยที่คุกคามและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้ายโดยเป็นการดูแลร่วมกันของหน่วยบริการครอบครัวผู้ดูแลและชุมชนตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

ซึ่งบริการแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านมีบริการดังนี้ ค่าใช้จ่ายบริการดูแลที่บ้านในระยะเวลา 6 เดือน จ่ายอัตราเดือนละ 1,000 บาทไม่เกิน 6 เดือน และจ่าย Fix cost ครั้งเดียว 3,000 บาท เมื่อเสียชีวิต ค่าบริการยาอนุพันธ์ฟินสำหรับบริการประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่บ้าน คือ เมาจ่ายเพิ่มเติมอัตรา 750 บาท/คน/เดือน จนกว่าจะเสียชีวิต 

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

ไขคำตอบ! หยุดรักษาไม่ก่อประโยชน์ผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต คืออะไร..

เวทีมหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง มุ่งดูแลผู้สูงวัยแบบประคับประคอง ลดปัญหาไม่ล้มละลายจากการรักษา

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org