ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (CARE GIVER) 420 ชั่วโมง ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพม.เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยนำร่องที่จ.พิษณุโลก และเตรียมจะขายไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นการสร้างอาชีพใหม่ภายหลังวิกฤติโควิด-19

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เป็นสังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สัดส่วนของอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ในขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับประชาชนทุกช่วงวัยในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้มีนโยบายสร้างอาชีพใหม่ภายหลังวิกฤตโควิด - 19 โดยวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้ดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ด้วยการดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) 420 ชั่วโมง เพื่อผลักดันการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ  และพัฒนาศักยภาพอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความสามารถ ตามมาตรฐานสากลและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน อีกทั้งทำให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ

“ต้องขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายทั้งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก  มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภากาชาดไทย โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thai MOOC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่ร่วมกันจัดทำหลักสูตรดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นต่อไป” นายจุติกล่าว