ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกเผยโควิด-19 เริ่มเห็นการสิ้นสุดระบาดใหญ่ ส่วนไทยใกล้เคียง เตรียมประชุมคกก.โรคติดต่อ 21 ก.ย.นี้ หารือเปลี่ยนผ่านสู่โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ขณะที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ 23 ก.ย. นี้ถกแผนลดระดับโรคโควิด ด้านกรมควบคุมโรคเผยผลศึกษาในตปท. กรณีแอนติบอดี LAAB กระตุ้นภูมิฯสำหรับกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้นชัดเจน ตัวเลขเกือบใกล้เคียงกับตัวเลขต่ำสุดของปีที่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ดร.เท็ดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด เริ่มเห็นการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่อยู่ไม่ไกลแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ดร.เท็ดรอส จะไม่กล่าวในทำนองนี้ แต่ทั้งนี้ก็ยังย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกและเข็มกระตุ้น  โดยสถานการณ์ในยุโรปลดลงชัดเจน ประชากรเริ่มถอดหน้ากากอนามัยมากขึ้นเพราะการติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงลดลง ขณะที่ประเทศทางเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน จำนวนติดเชื้อใหม่ก็ลดลงแล้ว

“ประเทศไทยเหมือนสถานการณ์ประเทศอื่น ช่วงนี้อยู่ในช่วงเกือบต่ำสุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ยังมากกว่าเล็กน้อยแต่ก็ใกล้เคียง เสียชีวิตอยู่ในหลักสิบรายต้นๆ ฉะนั้น ถือเป็นระยะที่มีความปลอดภัยสูง เราจึงเตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งพรุ่งนี้ (21 ก.ย.) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะประชุมกัน ก็น่าจะมีมติที่เป็นประโยชน์ มีคำแนะนำที่จะเอาไปใช้ได้” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวถึงกรณีการใช้แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว(Long Acting Antibody หรือ LAAB) ว่า ต่างประเทศมีการใช้และขึ้นทะเบียน LAAB เพื่อการป้องกันโรคมาก่อนไทย แต่เมื่อใช้ไปก็มีการศึกษาวิจัยในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยใช้ฉีดในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ แต่มีอาการน้อย พบว่า กลุ่มศึกษา 900 กว่าคน ได้ผลดี โดยการให้ยาภายใน 7 วันหลังติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย สามารถลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้50% ถ้าให้เร็วขึ้นอีกภายใน 5 วัน ลดได้ 67% และถ้าให้ภายใน 3 วัน ลดได้ 88% ผลการศึกษานี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่จะอาการหนัก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่เพิ่งได้รับเชื้อ ไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค.65  ขณะเดียวกันคณะกรรมการการใช้ยาในมนุษย์ของยุโรป ภายใต้หน่วยงาน The European Medicines Agency (EMA) ออกคำแนะนำเมื่อวันที่ 16 ก.ย.65 ให้ใช้ LAAB เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการและมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้น 

ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ในสหภาพยุโรป (European Union – EU) จะมีการอนุมัติขึ้นทะเบียนให้ใช้ LAAB เพื่อใช้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่จะอาการหนัก ซึ่งจะมีผลกับหลายๆ ประเทศในอียู แต่สหรัฐฯ ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา โดยคาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตก็จะนำข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากอียู มายื่นในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 กันยายน จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019(โควิด-19)(ศบค.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นแผนการลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org