ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ “จ.พังงา” เยี่ยมชมการพลิกฟื้น “ชุมชนบ้านรมณีย์” จากปัญหาหนี้สิน สู่การจัดการตนเองเพื่อปลดเปลื้องข้อกำจัดทางการเงิน ยกระดับสู่การตั้งกองทุน-สร้างอาชีพ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “เขียนกติกาชุมชน เขียนนโยบายประชาชน เขียนอนาคตของตัวเอง” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการตนเอง ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชาวพังงาผ่านกระบวนการ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” อีกทั้งยังมีเรื่อง การพลิกฟื้น “ชุมชนบ้านรมณีย์” จากปัญหาหนี้สิน สู่การจัดการตนเองของชาวบ้าน

นางกัลยา โสภารัตน์ ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ หลักสูตรของ “สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความ” เล่าว่า ในอดีตคนในชุมชนบ้านรมณีย์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร มีปัญหาเรื่องของภาระหนี้สิน ประกอบกับการมาของกองทุนหมู่บ้านฯ เมื่อชาวบ้านขาดระบบการบริหารจัดการเงินที่ดี จึงทำให้เป็นหนี้สินที่พอกพูนลามไปจนถึงการเป็นหนี้นอกระบบ ตนเองจึงได้ลุกขึ้นมาจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ และเชิญชวนชาวบ้านเป็นสมาชิกฝากเงินทุกเดือน จากนั้นเอาเงินในกองทุนไปต่อยอด เป็นอาชีพ สร้างรายได้

แต่ก่อนที่จะมีเรื่องราวดีๆเกิดขึ้น ตนได้เสียเสาหลักของครอบครัวไปคือ สามีเสียชีวิต ครอบครัวของตนไม่มีแม้กระทั่งเงินจัดงานศพ อีกทั้งยังมีลูกเล็กอีก 3 คน ที่ยังต้องเลี้ยงดูต่อไป ตนเคยไปยืมเงินกับชาวบ้านด้วยกันเพื่อจะได้พาลูกไปหาหมอบ้าง ซึ่งจุดนี้ทำให้เราเจ็บปวดมากเพราะไม่มีเงินที่จะไปใช้คืนเลย แต่ได้มีการทำขนมขายบ้าง  บางครั้งเคยคิดถึงขั้นจะฆ่าตัวตายแล้วหลายครั้ง แต่ก็มาคิดว่าถ้าหากเราตายไปลูกจะอยู่ยังไง จะใช้ชีวิตได้อย่างไร

 

เราได้กลับมาคิดว่าถ้าชุมชนยังเป็นแบบนี้ต่อไปคนรุ่นหลังลูกหลานจะทำอย่างไรเค้าอาจจะไม่เข้มแข็งหรือไม่อดทนเหมือนกับเราก็ได้ ซึ่งตอนนั้นเรารวมคนได้ 7 คนไปกู้เงินที่ ธกศ. และนำเงินมาลงทุนทำเป็นร้านค้าเล็กๆเพื่อขายของ หลังจากนั้นเราได้รวมกลุ่มไปคุยกับผู้จัดการธนาคารว่าเราได้ขอให้ธนาคารมาเก็บเงินที่รมณีได้ไหมเพราะระยะทางห่างไกลมาก เพราะแค่ยานพาหนะเดินทางเรายังไม่มีใช้เลย

ทั้งนี้ ทางธนาคารได้เสนอว่า ขอให้รวมกลุ่มสมาชิกได้ไหม ธนาคารจะอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่จะรวมชาวบ้านเป็นกลุ่ม สู้กว่าจะทำเรื่องนี้สำเร็จได้เราต้องใช้ใจแลกใจเราต้องทำให้เห็นว่าเงินอยู่กับเราจะไม่หายแน่นอน ซึ่งเราได้มีการอบรมเรียนรู้ให้กับชาวบ้านที่ต้องการเป็นสมาชิกซึ่งรอบแรกได้สมาชิกมาแค่ 120 คน แต่ปัจจุบันมีสมาชิก 1,500 กว่าคน

กติกาการเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครั้งนี้ ทุกคนจะต้องมาฝากเงินออมวันละ 1 บาทโดยทำข้อตกลงว่าต้องฝากทุกวัน ปัจจุบันเรามีเงินหมุนเวียนเกือบ 4 ล้านกว่าบาท กรณีฝากเงินออมทรัพย์ กติกาของเราคือหนึ่งเดือนต้องฝากสองครั้งทุกวันที่ 10 กับวันที่ 20 ของเดือน โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน ทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว นอกจากนี้ เรายังมีเรื่องการจัดการหนี้นอกระบบให้ชาวบ้าน ปกติแล้วการยืมเงินสหกรณ์ทุกปีจะต้องจ่ายสองครั้งซึ่งพอนำเงินมาจ่ายแล้วชาวบ้านจะไม่มีเงินใช้จึงจำเป็นต้องไปยืมหนี้นอกระบบ แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ปลดหนี้กันทั้งหมดแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและมีความสุขให้กับชุมชนรมณีย์ด้วย ฯลฯ

นางกัลยา กล่าวว่า ปัจจุบันเงินในกองทุนที่ดำเนินการมาเกือบ ๒๐ ปี มียอดรวมไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาท โดยเงินในกองทุนนี้ได้นำไปใช้ซื้อหนี้นอกระบบของชาวบ้าน เพื่อให้ได้มาผ่อนชำระโดยตรงกับกองทุน หรือแม้แต่การนำเงินไปใช้เพื่อซื้อทรัพย์สิน รถจักรยานยนต์ หรือต่อเติมซ่อมแซมบ้าน ก็ได้เช่นเดียวกัน แทนที่ชาวบ้านจะต้องไปผ่อนพร้อมดอกเบี้ย กองทุนใช้วิธีซื้อเงินสดมาแล้วให้สมาชิกผ่อนต่อ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มงานต่างๆ รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจการเกษตร ที่รวบรวมผลผลิตเพื่อสร้างพลังการต่อรองราคาสินค้า เช่น ยางพารา อีกด้วย