ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ศิริราช ร่วมเอกชน ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER กู้ชีวิตผู้ป่วย เบื้องต้น 400 คนใน 4 เดือน เผยจุดเด่นลดการเสียชีวิตและลดภาวะทุพพลภาพจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา รพ.ศิริราชศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รอง ผอ.รพ.ศิริราช  ผศ.นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และ นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด  ร่วมแถลงข่าวศิริราชนำหน้าด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้คุณถึงมือแพทย์เร็ว ผ่านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER (Smart Approach for Vital Emergency Responses) 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า พื้นที่จำกัดและห่างไกลทำให้การเข้าถึงการรักษาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเป็นไปได้ลำบากล่าช้า ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็ว ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ปลอดภัย เริ่มใช้ในศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไปกว่า 400 คนในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา

ผศ.นพ.ศรัทธา กล่าวว่า ระบบ "SAVER" เป็น Smart EMS ทำให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการเสียชีวิตและภาวะทุพพลภาพ เนื่องจาก 1.ระบบหาตำแหน่งผู้ป่วยเพื่อหาเส้นทางที่รวดเร็วในการเข้าถึง โดยจะส่งข้อความไปที่โทรศัพท์ของผู้ติดต่อเพื่อขอความยินยอมให้ติดตามตำแหน่ง โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพียงมือถือมีอินเทอร์เน็ตก็ใช้ระบบนี้ได้ 2.มีระบบ SIREN เรียกอาสาสมัครภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะส่งตำแหน่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังอาสาสมัครที่ลงทะเบียนไว้ ปัจจุบันมีอาสาสมัคร เช่น ประชาชนทั่วไป มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผ่านการอบรม และบุคลากรทางการแพทย์ที่อาศัยในพื้นที่ โดยอาสาสมัครไม่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ เช่นกัน จะทำงานผ่าน LINE official account

 

3.ระบบให้คำปรึกษาโดยแพทย์ทางไกล (Teleconsult) ผ่านแพลตฟอร์ม "True VROOM" ของ ทรู ใช้อุปกรณ์ใดก็ได้ที่มีกล้อง ไมค์ ลำโพง อินเทอร์เน็ต รองรับปรึกษาแพทย์ได้หลายคนพร้อมกัน ลดปัญหาการสื่อสารซ้ำซ้อนที่เป็นเหตุให้รักษาล่าช้าได้ 4.ลงข้อมูลสำหรับหน่วยรถพยาบาลที่ง่าย ถูกต้อง  และ 5.เมื่อทีมแพทย์ฉุกเฉินได้ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น จะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป 

 

"ขณะนี้นำร่องในพื้นที่ชุมชนเขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นชุมชนรถพยาบาลเข้าถึงได้ยาก จึงมีอาสาสมัครที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ช่วยให้เข้าถึงได้เร็วขึ้น" ผศ.นพ.ศรัทธากล่าว

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า จากการใช้ระบบ SAVER พบว่า ช่วยฝห้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการดูแลได้รงดเร็วขึ้น ซึ่งเดิมก่อนใช้ระบบนี้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเข้าถึงการรักษาอยู่ที่ประมาณ 40 นาที แต่ระบบ SAVER ช่วยลดเวลาทำให้รับการรักษาเร็วขึ้นเหลือประมาณ 23 นาที ทั้งนี้ ไม่มีค่าใบ้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ระบบนี้

 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยังมีระบบติดตามรถพยาบาล และเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลผู้ป่วยและตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ เพื่อค้นหา รพ.ในการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง