ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอโอภาส” ปลัด สธ. เผยนโยบายเร่งด่วนหลังรับตำแหน่งวันแรก!  พร้อมถ่ายทอดนโยบาย 3 ต.ค.นี้ มอบ รพ.ประเมินศักยภาพทางการเงิน หลังโควิดพบเงินบำรุงเพิ่ม ชี้นำมาใช้ให้ก่อประโยชน์ตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบริการประชาชน ทั้งสร้างอาคารจอดรถ บ้านพักบุคลากรที่ทรุดโทรมต้องปรับปรุง จัดทำระบบอนุรักษ์พลังงาน อย่างโซลาร์เซลล์   และให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป  ตั้ง “กลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์”  ส่วนถ่ายโอน รพ.สต. 1 ต.ค.เป็นต้นไป เน้น 3 เรื่องหลักเพื่อประโยชน์ปชช. -ลูกจ้างอีก 9 พันคนต้องไม่ได้รับผลกระทบ

 

หลังจากเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการรับส่งงานในหน้าที่ราชการตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ซึ่งเกษียณอายุราชการ และได้ลงนามส่งมอบงานให้แก่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้ารับตำแหน่ง ปลัด สธ.คนใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "อนุทิน" พร้อมข้าราชการ จนท. ร่วมอำลามอบดอกไม้ "หมอเกียรติภูมิ" เกษียณอายุราชการตำแหน่งปลัด สธ.)

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม 2565   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เดินทางถึงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ณ บริเวณเสาธง อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ  ณ พระพุทธนิรามัย ณ หอพระประจำกระทรวงสาธารณสุข  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ลานต้นพระศรีมหาโพธิ์  พระพรหม ณ ศาลพระพรหม  และสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อยู่บนแท่นฐานเดียวกัน  ต่อมาเดินทางสักการะพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสักการะพระพุทธมหานวนาคปฏิมากร ณ บริเวณ ชั้น 1 อาคาร 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯ

** นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์ภายหลังการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่า ในภาพรวม 1 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยโดยเฉพาะระบบสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก  โดนเฉพาะสถานการณ์โควิด-19มีผลกระทบหลายด้านทั้งบวกและลบ  โดยด้านลบมีความสูญเสียทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจ   ซึ่งต้องนำมาเป็นบทเรียนในการจัดการ รวมทั้งทั่วโลก แม้แต่องค์การอนามัยโลก(WHO) คาดว่า เดือนนี้จะมีการประชุมทบทวนประกาศภาวะฉุกเฉิน  

        สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาได้ร่วมความร่วมมือร่วมใจจากคนทั้งประเทศ ทำให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปได้ด้วยดี ประกอบด้วย

1.เชิงนโยบาย ทั้งระดับรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบาย สนับสนุน กำกับติดตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งของไทย 

2.ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในทุกสังกัดมีความเข้มแข็ง ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค การรักษา การสนับสนุนจัดยาและวัคซีน การกระจายกำลังคน และ อสม. อีก 1 ล้านคน     

3.ประชาชน มีความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนคนไทย มีความตื่นตัวด้านสุขภาพ และให้ความร่วมมือได้อย่างดียิ่ง ทำให้ผ่านวิกฤตไปได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ต้องนำมาพัฒนาปรับปรุงระบบต่อไป 

         ส่วนข้อดีของโควิด-19 สำหรับระบบสาธารณสุขมีหลายเรื่อง ได้แก่

1. ได้รับการแก้ปัญหาในเรื่องบุคลากร ทั้งปริมาณและการกระจายตัว  ทำให้ที่มีการเรียกร้องเรื่องบุคลากรสาธารณสุขอยู่เนืองๆ  ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดี อย่างการสนับสนุนทั้งท่านนายกฯ และท่านรองนายกฯ ทำให้มีการบรรจุข้าราชการ  45,000 อัตรา เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจ

2.สถานะการเงินของ รพ. ซึ่งเดิมมีปัญหาสภาพคล่องและหนี้สิน เงินบำรุง รพ.ไม่เพียงพอ บางแห่งติดขัดการจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ไม่ต้องพูดถึงการพัฒนา แต่คราวนี้ทำให้เงินบำรุง รพ.ดีขึ้นมาก และระยะ 3ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาหน่วยงาน รพ.ในสังกัดได้ทุกหน่วย ซึ่งเป็นนโยบายที่ท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ.ให้มา ซึ่งเป็น 2 เรื่องหลักที่เป็นจุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไป

         สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการ จะต้องยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูประบบสาธารณสุข และนโยบายรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ.ให้ความสำคัฐใน 5 เรื่องที่จะเน้น “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง “ (Health for Wealth) ได้แก่  1.การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ 2.ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง 3.ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง  4.นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 5. ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน โดยจะพัฒนาข้อมูลดิจิทัลสุขภาพที่ได้มาตรฐาน

      “ความมั่งคั่งไม่ได้แปลว่าตัวเงินอย่างเดียว แต่สุขภาพที่ดีก็เป็นต้นทุน ถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของประเทศหากประชาชนสุขภาพดี ทำให้สุขภาพและความมั่นคั่งสมดุลไปด้วยดัน จากโควิด-19ก็ทราบถ้ามีการควบคุมโรคมากเกินไป ระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจก็จะทรุดตัวลง สุดท้ายก็มีผลต่อสุขภาพประชาชน ดังนั้น 2 สิ่งต้องไปด้วยกัน ทั้งเรื่อง Health และWealth ” นพ.โอภาสกล่าว 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในวันจันทร์ 3 ตุลาคม 2565 จะมีการถ่ายทอดนโยบายหลักๆ คือ ให้ รพ.ประเมินศักยภาพทางการเงินของ รพ. และให้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารจอดรถ  รพ.ไหนที่บ้านพักเจ้าหน้าที่มีความทรุดโทรม  30-40 ปี ปลวกกินไปครึ่งหลังแล้ว ก็ต้องเร่งดำเนินการ อันไหนต้องเร่งสร้างเรื่องอนุรักษ์พลังงาน อย่างโซลาร์เซลล์ หรืออันไหนมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย ให้เร่งดำเนินการ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลและอื่นๆ พิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละแห่ง เป็นสิ่งที่ สธ.จะลงทุน และให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป  ตั้ง “กลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์”  เดิมมีคำว่า เทเลเมด แต่ดิจิทัลทางการแพทย์จะกว้างขึ้น  เพื่อให้บริการประชาชน โดยเหมาะกับชุมชนในเมือง เนื่องจากมีความแออัด เวลามา รพ.จะรอนาน ถ้าปรับได้จะทำให้การรับบริการสะดวกขึ้น ลดความแออัด 

         “การพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งเงินบำรุง รพ.ในภาพรวมมีมาก นอกจากช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรพ.และหน่วยงานต่างๆแล้ว สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยมีการลงทุนกระจายทุกอำเภอ การสร้างการลงทุนจะอยู่ระดับอำเภอก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งขึ้น และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจควบคู่กัน”นพ.โอภาสกล่าว 

       ผู้สื่อข่าวถามว่า 1 ต.ค.65 เป็นวันแรกที่มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายโอนจำนวนมาก ทาง สธ.เตรียมพร้อมอย่างไร

นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ การถ่ายโอน เพราะเป็นประโยชน์และทิศทางของโลก 2.ประชาชนจะต้องไม่ได้รับผลกระทบ บริการที่เคยได้รับก็ต้องได้รับ ได้มีการสั่งการตั้งศูนย์ติดตามเรื่องนี้ในส่วนกลางและภูมิภาค  และ3. อบจ.ที่พร้อมลงนาม ก็ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)ไปลงนามร่วมกับนายกอบจ.และถ่ายโอนได้ทันที 

“ยังติดขัดอยู่เรื่องเดียว คือ เดิมอนุกรรมการถ่ายโอนได้กำหนดให้ อบจ.จ้างลูกจ้างด้วย ซึ่งข้าราชการไม่มีปัญหา แต่จะมีลูกจ้างอีก 9 พันคน ดังนั้น หาก อบจ. ที่พร้อมจ้างลูกจ้างก็ถ่ายโอนได้ทันที สัปดาห์นี้คาดว่าน่าจะหลาย อบจ.ที่รับถ่ายโอน และสธ.พร้อมช่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น   ซึ่งหลายแห่งก็พร้อม แต่หลายแห่งก็ต้องช่วยเหลือกัน เราพยายามอะลุ่มอล่วยช่วยกัน ซึ่งหากร่วมมือกันคาดว่าจะราบรื่น” ปลัด สธ.กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.มอบนโยบาย รพ.ทุกแห่งเคลียร์หนี้สินให้หมด โดยเฉพาะอันไหนค้างบุคลากรต้องให้เสร็จภายใน 1 เดือน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org