ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็ก 6 เดือนจนถึงน้อยกว่า 5 ปี ผลข้างเคียงไม่มาก ส่วนผลลดการติดเชื้อหลังฉีดครบ 3 เข็ม อย่างน้อย 7 วันแม้สูงถึง 75-80% แต่เป็นข้อมูลหลังฉีดใหม่ๆ ซึ่งผลลดการติดเชื้อจะลดลงรวดเร็ว สิ่งสำคัญเน้นป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ขณะที่ข้อควรระวัง!  เด็กที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจ-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบให้เลื่อนการฉีดออกไปก่อน

 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2565 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดงานเสวนาวิชาการผ่านระบบออนไลน์ “ข้อมูลวัคซีนโควิด19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี ” โดยนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาว่า ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงกรกฎาคม 2565  พบผู้ป่วยโควิดเป็นเด็กอายุ 0 - 4 ปี จำนวน 3.6 แสนราย จำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลเกือบ 1 แสนราย มีอาการปอดบวมรุนแรงเกือบ 1 พันราย เสียชีวิต 65 ราย อัตราเสียชีวิต 0.01 % ประมาณ 1 ในหมื่น แม้ไม่มากแต่จะเท่าไหร่ก็ตามถือเป็นความสูญเสียทรัพยาบุคคลของประเทศ

“ทั้งนี้ การการระบาดยังมีต่อเนื่องจะทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น จึงเเป็นโอกาสดีที่จะมีวัคซีนใช้สำหรับเด็กเล็ก คาดจะมีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป” นพ.นคร กล่าว

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้งเสริมภูมิคุ้มกันโรค และนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค  ให้ข้อมูลว่า สำหรับวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือนจนถึงน้อยกว่า 5 ปี ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้าในช่วงเดือนตุลาคม โดยวัคซีนมีรูปลักษณ์เปลี่ยนไป คือ ฝาสีแดงเข้ม  ขวดก็แดงเข้มเช่นกัน จะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแยกง่ายขึ้น โดยวัคซีนชนิดนี้ต้องผสมตัวทำละลายตามที่กำหนด ซึ่ง 1 ขวดฉีดได้ 10 โดส หรือ 10 คน โดยมีขนาดโดสละ 0.2 มิลลิลิตร (3 ไมโครกรัม) ซึ่งถือว่าปริมาณน้อย โดยต้องฉีดจำนวน 3 เข็ม คือ เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3-8 สัปดาห์ ที่แนะนำคือ 4 สัปดาห์ ส่วนเข็ม 2 และ เข็ม 3 ให้ฉีดได้ตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป

 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการข้างเคียงไม่รุนแรง มีความปลอดภัยดี โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  โดยอาการข้างเคียงเหมือนกันทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3  ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงในการศึกษาที่ผ่านมา แต่มีบางคนที่ขึ้นผื่น ตัวบวมจากการแพ้ แต่ไม่มีอาการรุนแรงช็อก อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวอย่างที่ศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้มากเท่ากับการใช้จริง ซึ่งก็ต้องมีการติดตามต่อไป และหลังฉีดเบื้องต้นต้องติดตามอาการ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย

“จากการศึกษาภูมิคุ้มกันพบว่า ฉีด 2 เข็มภูมิฯไม่สูงมากนัก จึงแนะนำว่า ต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลยังพบว่า หลังการฉีดมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ฉีดครบ 3 เข็ม อย่างน้อย 7 วันพบประสิทธิผล ลดการติดเชื้อได้ประมาณ 75-80% แต่อันนี้เป็นการศึกษาช่วงหลังฉีดใหม่ๆ ซึ่งประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลงเร็วมาก จึงอย่าหวังเรื่องป้องกันติดเชื้อ แต่เราหวังป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตมากกว่า” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว

 

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กที่ควรเข้ารับวัคซีน คือ กลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กอ้วน เด็กที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืด เด็กที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์  ฯลฯ

“ มีข้อควรระมัดระวัง โดยเด็กและวัยรุ่นที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน mRNA มาก่อน ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็มถัดไปไปก่อน แต่กรณีนี้ที่ผ่านมาไม่เคยพบในเด็กเล็ก ขอย้ำว่า การรับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว  และว่า วัคซีนป้องกันโควิดสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวถึงกรณีมีคำถามว่า หากเด็กเล็กฉีดวัคซีนโควิด 1 เข็ม แต่ติดโควิดก่อนฉีดเข็ม 2 ยังต้องฉีดหรือไม่ และต้องห่างเท่าไหร่ ว่า  หากเด็กติดเชื้อโควิด ให้บวก 3 เดือนไปก่อนค่อยฉีดเข็มถัดไป กล่าวคือ เว้น 3 เดือนค่อยฉีดอีกครั้งจนครบโดส

“วัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็กจะเริ่มฉีดในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนจะฉีดอย่างไร จะมีการกระจายและให้ทางจังหวัดเป็นหน่วยบริหารจัดการ” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็ก คาดว่าจะมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการช่วงสัปดาห์หน้า หรือกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอบถามได้ยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org