ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อมูลแรงงานไทยสิงห์อมควัน 20.5% สูบหนัก 1-10 มวนต่อวัน พยายามเลิก แต่ไม่สำเร็จถึง 59%  ส่วนใหญ่ไม่ขอรับคำปรึกษา แหล่งซื้อส่วนใหญ่จากร้านสะดวกซื้อ  ขณะที่แรงงานสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ 70% มีการสูบในที่ทำงานด้วย โดยสูบในพื้นที่บริษัทจัดไว้ให้ 87% และสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ 13% พบข้อมูลระดับการศึกษาสูงจะสูบบุหรี่น้อยกว่า อาจเกี่ยวกับค่านิยม ด้านสสส.  ขยายผลโรงงานปลอดบุหรี่ในต่างจังหวัด พัฒนาระบบส่งต่อปรึกษา-บำบัดเลิกบุหรี่  

 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต  ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ  กล่าวในการนำเสนอข้อมูล “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของแรงงานและการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ให้โดนใจผู้ประกอบการ” ว่า ทีมวิจัยได้สำรวจสถานการณ์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ  ซึ่งมีสถานประกอบการจำนวน 53 แห่งจาก 15 จังหวัด ทั้งกิจการโรงแรม ห้างร้านขายส่ง ขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ฯลฯ   โดยสำรวจพนักงาน/แรงงานจำนวน 10,228 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม  2565 ที่ผ่านมา  

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบแรงงานในสถานประกอบการสูบบุหรี่ 20.5% เพศชายสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง กลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงจะสูบบุหรี่น้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า อาจเกี่ยวกับค่านิยม นอกจากนี้  แรงงานส่วนใหญ่ 56% เริ่มสูบบุหรี่อายุ 16-20 ปี เพราะอยากลองและสูบตามเพื่อน นอกจากนี้ พบว่าส่วนใหญ่สูบบุหรี่โรงงาน 77% (สูบ 1-10 มวนต่อวัน) มีเพียง 8% ที่สูบทั้งบุหรี่โรงงานและบุหรี่ไฟฟ้า  โดยแหล่งซื้อส่วนใหญ่มาจากร้านสะดวกซื้อ 56% รองลงมาร้านค้าใกล้บ้าน 34% และซื้อผ่านออนไลน์ 6%

 

“สำหรับแรงงานที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ 70% มีการสูบในที่ทำงานด้วย โดยสูบในพื้นที่บริษัทจัดไว้ให้ 87% และสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ 13% สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเกี่ยวกับการพบเห็นการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบในสถานประกอบการ  21%   และมีแรงงานที่คิดจะเลิกสูบสูงถึง 79%” ดร.ศันสนีย์ กล่าว

 

ดร.ศันสนีย์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ คือ ครอบครัวอยากให้เลิก และเป็นห่วงสุขภาพ เพราะมีผลต่อระบบหายใจ และรู้สึกอ่อนเพลีย ขณะที่ยังมีแรงงานพยายามเลิกสูบแต่เลิกไม่สำเร็จ 59% ส่วนใหญ่พยายามเลิก 1-3 ครั้ง โดยใช้การเลิกด้วยตนเอง ไม่ขอคำปรึกษาจากหน่วยงานให้บริการช่วยเลิกสูบบุหรี่ โดยนิยมใช้วิธีหักดิบ รองลงมาคือ ลดจำนวนมวนที่สูบ ส่วนสาเหตุที่เลิกไม่สำเร็จเพราะไม่สามารถเอาชนะความเคยชินได้ และเห็นคนอื่นสูบแล้วอยากสูบตาม  

 

 “ ผลที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า แรงงานในสถานประกอบการยังคงมีความเข้าใจ/ความเชื่อ หรือ กรอบความคิด (Mindset) ว่า การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าจะเลิกควรเลิกด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร ดังนั้น จึงไม่สนใจที่จะสมัครเข้ารับการบริการช่วยเลิกการจูงใจให้แรงงานที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่หันมาใช้บริการช่วยเลิก อาจจะต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ หรือหาทางเปลี่ยนกรอบความคิดของแรงงานที่ติดบุหรี่หรือต้องการเลิกสูบบุหรี่ ดช่น อาจมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และการมีคนช่วยให้กำลังใจ จะทำให้เลิกได้ง่ายขึ้น” ดร.ศันสนีย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ข้อมูล 8 % ของแรงงานที่สูบบุหรี่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยแรงงานยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนิโคติดในบุหรี่ไฟฟ้า หรือการช่วยทำให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น รวมทั้งโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น ต้องเร่งสร้างความเข้าใจของแรงงานในสถานประกอบการต่อข้อเท็จจริงการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับพิษภัย และผลกระทบต่างๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง