ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ส่งทีมจิตแพทย์ ลงพื้นที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู สิ่งที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน คือ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกปลอดภัย มีคนคอยประคับประคอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วอนสังคมใกล้ชิดผู้รับผลกระทบระวังการซักถาม หวั่นกระทบจิตใจผู้รับฟัง พร้อมขอประชาชน สังคมออนไลน์อย่าส่งต่อภาพ ขอให้ทุกคนให้เกียรติผู้สูญเสีย ผู้เกี่ยวข้อง ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรง ทำให้คนใกล้ชิด สังคม เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บ จำนวนมากว่า ขณะนี้ได้ให้ทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลจิตเวชเลย และศูนย์สุขภาพจิตเขต 8 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และดูแลผู้เสียหาย ซึ่งเคลื่อนที่ลงไปแล้ว โดยหลักการจะเข้าไปดูผลกระทบทางด้านจิตใจ ร่วมกับผลกระทบทางร่างกายผู้ประสบเหตุ ทั้งเด็กนักเรียน พ่อ แม่ ครูพี่เลี้ยง ที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรทุกสายงาน เพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง สะเทือนขวัญที่จะสร้างความเจ็บปวดมาก ที่ต้องเตรียมคือความรู้สึกสูญเสีย และความรู้สึกผิดของคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทีมจิตแพทย์ต้องเข้าไปดูแล ช่วยเหลือทุกด้าน

 

ทั้งนี้ เรื่องที่สะเทือนขวัญขนาดนี้ ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากขนาดนี้ จะส่งผลกระทบยาวพอสมควร วิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกปลอดภัยก่อน เพราะการเผชิญเหตุการณ์อกสั่นขวัญแขวน การเห็นภาพความรุนแรง การได้ยินเสียงจะติดอยู่ในความรู้สึกที่รุนแรงมาก หากได้อยู่ในสถานที่ที่มั่นใจว่าปลอดภัย และมีคนคอยประคับประคองตรงนี้เป็นเรื่องแรกที่เราต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเด็กที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ประคับประคองตัวเองได้น้อย ต้องได้รับการปกป้องจากผู้ใหญ่ที่คุ้นชินเป็นเรื่องสำคัญมาก

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” สั่งการปลัด สธ.-อธิบดีกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ด่วน! ดูแลผู้บาดเจ็บเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู)

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องขอความช่วยเหลือจากทุกคนในสังคม 1.สังคมวงใน ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ประสบเหตุ คือเรื่องของการซักถามต่อผ้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งลักษณะการถามที่มีลักษณะเจาะ เค้น ขุดคุ้ย จะเป็นการตอกย้ำภาพความรุนแรง เสียง บรรยากาศของความรุนแรงจะฉายวนอยู่ในจิตใจคนนั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นแผลลึก ทำให้เยียวยา คลี่คลายได้อยาก

ดังนั้น การซักถาม ส่วนหนึ่งอยากรู้ ส่วนหนึ่งอยากช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งอยากติดตามเหตุเพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ หากจำเป็นต้องกระทำ ขอให้ทำโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความรู้สึกและข้อจำกัดตรงนี้ด้วย การถามต้องพร้อมรับฟังอารมณ์ ความรู้สึก ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคาม ทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ทำให้เขารู้สึกผิด หรือกล่าวโทษตอกย้ำ

 

2. การส่งต่อข้อมูลต่างๆ ต้องระวังว่าจะเป็นการปลุกเร้าความรุนแรง ภาพความรุนแรง ภาพความสูญเสีย ความเจ็บปวด ร่างของผู้เสียชีวิตต่างๆ เป็นการละเมิดผู้เสียชีวิต ทำร้ายจิตใจ ทำลายศักดิ์ศรีผู้ก่อเหตุ ดังนั้นขอให้ทุกคนให้เกียรติผู้สูญเสีย ผู้เกี่ยวข้อง ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรงทำให้คนใกล้ชิด สังคม เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น หรือเป็นการทำให้สังคมเกิดความชาชินต่อความรุนแรง ดังนั้นไม่ควรส่งต่อภาพ คลิป เหตุการณ์ความรุนแรง

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการลอกเลียนแบบการกระทำหรือไม่ เนื่องจากเพิ่งจะเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มที่มีอาวุธอยู่ในมือเหมือนกัน พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการสอบสวนถึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันก็ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นนี้ขึ้นมา จะยิ่งเป็นการย้ำให้เรารู้ว่าอย่าเผยแพร่ภาพ คลิป ข่าวสารโดยเน้นสีสัน ทำให้คนที่อยู่ในความทุกข์ ความเครียด แล้วไปกระตุ้นการก่อเหตุได้

ทั้งนี้ การป้องกันคือ 1. ป้องกันตัวเอง สำรวจความรู้สึกตัวเอง ว่าโกรธ ก้าวร้าวที่ไม่สามารถจัดการได้หรือไม่ แล้วตั้งหลัก หาทางออกปรึกษา เป็นการป้องกันระดับบุคคล และต้องสนใจคนรอบข้างทั้งหลายด้วย เพื่อรับฟัง หากเกินความสามารถสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วน 1323 ตอนนี้กรมสุขภาพจิตให้หน่วยงานด้านสุขภาพจิตทุกหน่วยเป็นที่พึ่ง และรักษาโรคทางจิตใจที่เป็นเหตุของความก้าวร้าว รุนแรงได้ตลอดจนอสม.ก็ได้รับความรู้ในการสังเกตความรุนแรงในสังคม

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org