ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ แนะผู้ปกครองทั่วไปอ่านข่าวเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ควรหลีกเลี่ยงเล่าให้เด็กฟัง  พ่อแม่จะต้องดูแลจิตใจตัวเอง อ่านข่าวมากอาจทำให้เกิดความรู้สึกร่วมได้ เสพข่าวอย่างมีสติ เพื่อไม่ให้เครียดเกินไป  พร้อมแนะวิธีดูแลจิตใจตัวเองและลูกหลาน ส่วนกรณีข้อห่วงใยเด็กเล็กจดจำเหตุการณ์สะเทือนใจจะทำอย่างไร ชี้ต้องดูแลเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสม เพราะอาจฝังเป็นบาดแผลทางใจได้ แม้จำเหตุการณ์ไม่ได้ทั้งหมด แต่ความรู้สึกเศร้ายังมี

 

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดูแลเด็กเล็กหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ว่า คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่อ่านข่าวแล้วเกิดความสะเทือนใจ ควรหลีกเลี่ยงการเล่าเหตุการณ์นั้นให้เด็กฟัง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่สามารถสอนให้เด็กระวังตัวได้ เพราะไม่ได้อยู่ในจุดที่เด็กสามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น เด็กไม่จำเป็นต้องรับรู้โดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกัน พ่อแม่เด็กเล็ก เมื่ออ่านข่าวนี้ ก็อาจเกิดความรู้สึกผวา ดังนั้น จะต้องจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน ดูแลใจตัวเอง ติดตามข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้

 

“สำหรับผู้ปกครองที่พบเหตุการณ์ในทำนองดังกล่าว สิ่งสำคัญ คือ การคงกิจวัตรประจำวันของเด็กไว้ให้ดีที่สุด เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า อยู่ในสภาวะปกติ ต่อมาให้สังเกตอาการของลูก ในเด็กเล็กเมื่อเวลาเครียดหรือตกใจ จะเล่นน้อยลง ไม่ร่าเริง พูดน้อยลง พัฒนาอาจถดถอยลง หรือเมื่อสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน ก็จะตกใจง่าย เช่น เห็นผู้ชายลักษณะคล้ายกัน หรืออื่นๆ ที่เด็กจะแสดงออก เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึ่งการฝันของเด็กอาจไม่เห็นเป็นเหตุการณ์ แต่จะเห็นเป็นเงาดำๆ หรือฝันเห็นผี”  พญ.ดุษฎี กล่าว

 

พญ.ดุษฎี กล่าวว่า หากผู้ปกครองที่ทราบว่าลูกมีความเครียดแล้ว สามารถพาลูกเล่นให้ผ่อนคลาย ทำกิจกรรม เช่น วาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน เล่านิทาน เพื่อให้เด็กได้แสดงความรู้สึก ความเครียด สื่อความคิดของตัวเองผ่านรูปแบบการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม เวลาที่เด็กเกิดอาการตกใจ ให้พ่อแม่กอดปลอบลูก แสดงความรัก ความอบอุ่นให้ลูก

 

**ผู้สื่อข่าวถามว่าเด็กเล็กมีการจดจำเหตุการณ์ที่สะเทือนใจอย่างไร พญ.ดุษฎี กล่าวว่า เด็กเล็กอาจไม่ได้จำรายละเอียดในเหตุการณ์ แต่จะจำความรู้สึกได้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสม เด็กอาจจะฝังเป็นบาดแผลทางใจได้ เด็กบางคนเล่าได้ว่าเป็นความรู้สึกเศร้าที่สุดในชีวิตตอนอายุเท่านี้แม้จำเหตุการณ์ไม่ได้เป๊ะ แต่จำความรู้สึกได้

 

**เมื่อถามว่าหากเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเข้าพื้นที่คล้ายกับที่เกิดความรุนแรง พ่อแม่ต้องดูแลอย่างไร พญ.ดุษฎี กล่าวว่า ความกลัวเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติของเด็กเพื่อปกป้องตัวเอง ถ้าเราเข้าใจเขา จะต้องไม่เร่ง ไม่รีบร้อนนำเด็กเข้าพื้นที่ ต่อมาให้ใช้การเล่นเป็นสื่อ เริ่มจากการพาเด็กเข้าพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย เพื่อให้เด็กลดความกังวลจากสถานที่ที่เคยมีปัญหา

 

 “ที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมคือการคุยกับพ่อแม่เด็กทั่วไป หลีกเลี่ยงการเล่าเหตุการณ์นี้ให้เด็กฟัง พ่อแม่จะต้องดูแลจิตใจตัวเองเพราะการอ่านข่าวอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกร่วมได้ เสพข่าวอย่างมีสติเพื่อไม่ให้เครียดเกินไป ดูแลเด็กตามกิจวัตรประจำวันปกติ หากมีความกังวลก็อาจถามถึงสถานที่นั้นๆ ว่ามีระบบความปลอดภัยอย่างไร” พญ.ดุษฎี กล่าว

ขอบคุณภาพจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข