ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ชวน ลดหวาน ลดโรค สานพลัง นักวิชาการ – ภาคีเครือข่าย รณรงค์สร้างกระแส สร้างพฤติกรรมใหม่ สั่ง “หวานน้อย ไม่เกิน 2 ช้อนชา” ป้องกันกินหวานเกินเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับเครื่องดื่มเย็น หยุดเสี่ยงป่วยโรค NCDs

นางสาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาสื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดหวาน ภายใต้โครงการ “ลดหวาน ลดโรค” ผ่านเกณฑ์ความหวาน 5 ระดับ กระตุ้นให้ผู้บริโภคที่สั่งเครื่องดื่มเย็นทุกครั้ง เลือก “สั่งหวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชา” 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำรวจพบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชา/วัน เกินกว่าที่องค์การอนามัย (WHO) กำหนด คือ ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน ซึ่งอาจมาจากรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยกินอาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐานมากขึ้นถึง 4 เท่า ส่งผลให้คนไทย 75% ป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 

โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า เฉลี่ยในแต่ละวัน คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว  โดยเฉพาะค่านิยมการบริโภคเครื่องดื่มชงเย็น เช่น กาแฟ ชานมไข่มุก รวมถึงน้ำแต่งรสชนิดต่างๆ ที่มีวัตถุดิบให้ความหวานแตกต่างกัน 

นางสาวสุพัฒนุช กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงได้สานพลังกับภาคีเครือข่าย สร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายจากความหวาน จับกลยุทธ์จากวิถีชีวิตคนวัยทำงานที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มชงเย็น เป็นงานสื่อสารรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ และออนไลน์ รวมถึงสื่อนอกบ้าน พร้อมทั้งร่วมกับนักวิชาการ พัฒนาเครื่องมือที่เป็นเกณฑ์ระดับความหวานสำหรับเครื่องดื่มเย็นขึ้น

เพื่อเทียบเคียงระดับความหวานในปริมาณต่าง ๆ ให้เห็นระดับที่หวานมาก หวานเกิน สำหรับคนไทย โดยใช้“ช้อนชา” ในการวัดปริมาณความหวานที่ใส่ และบอกระดับที่ไม่ควรกินเกินต่อแก้ว คือ ไม่เกินระดับ 2 หรือ ความหวานไม่เกิน 2 ช้อนชา ให้เข้าใจง่ายที่สุด กับการเติมความหวานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล นมข้น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือไซรัป ในเครื่องดื่มชงเย็นทุกประเภท 

“แม้ตอนนี้คนในสังคมไทยเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพด้วยการสั่ง “หวานน้อย” เวลาสั่งเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น แต่ด้วยร้านต่าง ๆ จะปรับลดความหวานจากสูตรเดิมของแต่ละร้าน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 ช้อนชา นั่นคือ แม้ปริมาณความหวานจะลดลง 50% - 75%  แต่น้ำตาลที่ได้รับของบางร้าน ก็อาจจะอยู่ที่  4 – 5 ช้อนชา/แก้ว ซึ่งในแต่ละวันเรายังกินอาหารอื่น ๆ ที่มีน้ำตาลซ่อนอยู่เต็มไปหมด ทั้งใน อาหาร เครื่องดื่ม ของกินเล่น หรือแม้แต่ในน้ำจิ้มประเภทต่างๆ ทำให้ไม่รู้ว่ากินหวานไปเท่าไหร่

จนอาจทำให้ร่างกายรับน้ำตาลเกินเกณฑ์ได้ สสส. จึงเร่งรณรงค์สร้างกระแส สั่งหวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชาต่อแก้ว สำหรับเครื่องดื่มเย็น โดยใช้เกณฑ์ใหม่นี้ช่วยสร้างมาตรฐานระดับความหวานน้อยใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ ซึ่งช่วงแรกอาจยากสำหรับคนที่ติดรสชาติหวาน แต่หากทำต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ร่างกายจะค่อยๆ เรียนรู้ ลิ้นจะคุ้นชินแล้วปรับการรับรสระดับความหวานตามได้ในที่สุด ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แถมช่วยควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามสื่อต่างๆ เพื่อนำไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ “ ลดพุง ลดโรค ” นางสาวสุพัฒนุช กล่าว