ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เซินกา” เฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิดเตรียมแผนป้องกันอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ สำรองยา เวชภัณฑ์ และจัดหาพื้นที่ให้บริการสำรอง ไม่ให้กระทบการบริการประชาชน ส่วนสถานการณ์ที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี ขณะนี้ยังคงให้บริการได้ตามปกติ

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบสะสม 443,979 ครัวเรือน มีการเปิดศูนย์อพยพใน13 จังหวัด รวม 202 แห่ง ส่วนสถานบริการได้รับผลกระทบสะสม 221 แห่ง ได้แก่ สสจ. 1 แห่ง รพ. 15 แห่ง สสอ. 8 แห่ง รพ.สต. 192 แห่ง ศสม. 5 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 171 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 18 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 32 แห่ง ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนเรื่องพายุโซนร้อน เซินกา (SONCA) ที่จะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักและลมแรงในจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 

 

จึงขอให้สถานบริการในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมป้องกันอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบ จัดหาพื้นที่ให้บริการสำรอง ในกรณีที่สถานบริการไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เตรียมแผนการอพยพและระบบการส่งต่อผู้ป่วย สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ รวมถึงเตรียมพร้อมดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ของโรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วันนี้ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล ว่า ระดับน้ำยังทรงตัวสูงกว่าระดับพื้นด้านหน้าโรงพยาบาลประมาณ 30-40 เซนติเมตร ได้ใช้กระสอบทรายกั้นเป็นแนวกำแพงป้องกัน แต่ยังพบปัญหาน้ำผุดใต้ดิน จึงต้องขุดบ่อในจุดที่ต่ำที่สุดเพื่อกักเก็บน้ำและทำการสูบน้ำออกเพื่อรักษาระดับ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในโรงพยาบาล ขณะนี้ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ แต่มีการปรับรูปแบบการให้บริการ โดยจัดตั้งศูนย์บริการบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล (ถนนชัยนาท-สิงห์บุรี 311) และศูนย์บริการรพ.อินทร์บุรี  บริเวณลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้าโลตัส ตลาดอินทร์บุรี ให้บริการทำแผลและจ่ายยาให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้จัดรถรับ-ส่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งประสานกับรพ.สต.จัดส่งยาให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้านเพื่อป้องกันการขาดยา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยออกจากบ้านและมีปัญหาในการเดินทาง 

 

เนื่องจากน้ำมีปริมาณมาก รถใหญ่ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โรงพยาบาลจึงปรับเปลี่ยนการขนส่งถังออกซิเจนจากขนาดใหญ่เป็นขนาดเล็กแทน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดูแลรักษาคนไข้ และหากน้ำเข้าท่วมโรงพยาบาลจะใช้แผนระดับจังหวัด เคลื่อนย้ายและรับส่งต่อผู้ป่วย โดยกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่รุนแรง จะส่งต่อโรงพยาบาลคู่ขนานที่อำเภอบางระจัน กรณีเจ็บป่วยรุนแรง จะส่งต่อโรงพยาบาลสิงห์บุรี แต่หากโรงพยาบาลสิงห์บุรีมีน้ำท่วม จะประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสระบุรีและโรงพยบาลลพบุรีต่อไป